“สวัสดีพี่ทอน มาตั้งแต่เช้าเชียว”
ผมทักทายด้วยความคุ้นเคย
“เอาต้นอ้อย มาให้”
เสียงของพี่ทอน ตอบกลับ พร้อมกับยื่นต้นอ้อย มาให้ผม
“ขอบคุณครับ แล้วพี่ทอน ยังไม่ปล่อยวัวอีกเหรอ ขี้วัวแห้งหรือยัง”
ผมขอขี้วัว แกไว้ตั้งนานแล้ว ตั้งแต่หน้าฝน กะว่าจะนำมาหมักทำปุ๋ยชีวภาพ เพื่อลดต้นทุนในการซื้อปุ๋ย
“แห้งแล้ว พี่ไม่มีเวลา เอาขี้วัวใส่ถุง มาให้เลย”
“ไม่เป็นไรครับ ว่างเมื่อไหร่ ผมจะไปเอาเอง”
“แวะเข้าไปเอาขี้วัวได้เลยนะ”
ผมกับพี่ทอน ใช้เวลาคุยกันไม่นานนัก เพราะว่าพี่แก ต้องไปปล่อยวัว ให้ไปกินหญ้า หลังจากที่ พี่ทอน กลับไปแล้ว ผมก็ดำเนินการตัดแต่งต้นอ้อย พร้อมกับเตรียมจอม สำหรับขุดดิน ผมเลือกเอาบริเวณใกล้ๆโอ่งน้ำ ใกล้มือหน่อย จะได้ไม่ลืมให้น้ำทุกวัน
พูดถึงเรื่องการทำระบบให้น้ำต้นไม้ที่เราปลูก วันนี้ผมตั้งใจว่าจะไปปรับระบบการให้น้ำต้นมะกรูดสักหน่อย เมื่อหลายเดือนก่อน ผมติดตั้งระบบการให้น้ำต้นมะกรูด ที่สูบน้ำขึ้นมาโดยตรง จากบ่อบาดาล ด้วยความที่เราไม่มีความรู้ความเข้าใจ ของการนำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ โดยไม่ผ่านการพักน้ำไว้ก่อน ผลที่ตามมา เกิดตะกอนหินปูนที่ท่อรองประธาน และที่หัวมินิสปริงเกลอร์ ทำให้ตะกอนหินปูนอุดตันบ่อย แต่ที่ร้ายแรงกว่านั้น น้ำที่มีส่วนผสมของหินปูน มันจะไปเกาะที่ใบ ลำต้นของต้นไม้ ทำให้ต้นไม้นั้น เจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร การเจริญเติบโตของต้นไม้อาจจะหยุดชะงัก
ผมต้องเปลี่ยนระบบการให้น้ำ แก่ต้นไม้ใหม่ โดยวิธีการสูบน้ำจากบ่อบาดาล ขึ้นมาเก็บไว้ที่ถังพักน้ำไว้ก่อน ถังพักน้ำที่ทำด้วยวงซีเมนต์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.50 เมตร จำนวน 9 ชั้น จำนวน 2 ถัง พร้อมกับแก้ไขระบบท่อน้ำใหม่ จากนั้นก็ได้ทดลองการปล่อยน้ำ เพื่อทดสอบ แรงดันของน้ำปรากฏว่า แรงดันของน้ำ น้อยกว่าระบบการให้น้ำที่สูบจากบ่อบาดาล แล้วปล่อยน้ำให้ต้นไม้โดยตรง