30 มี.ค. 2556

แคป่าแฝดคนละฝากับแคบ้าน

ดอกแคป่า แคป่าแคบ้าน ถ้าไม่เคยเห็นไม่เคยกิน คงจะไม่รู้ถึงความแตกต่าง ความแตกต่างที่เราต้องทำหน้างงๆๆ รูปร่างของดอก ลำต้น แม้กระทั่งใบ แต่เหตุไฉน ถึงเรียกชื่อให้ใกล้เคียงกัน

แคป่า คือชื่อที่เรียกประจำท้องถิ่น ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ ก็คือ Dolichandrone serrulata (DC.) Seem. อยู่ในวงศ์ BIGNONIACEAE เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางผลัดใบ สูง 10-20 เมตร ลำต้นตรงมักแตกกิ่งต่ำ

ลักษณะทั่วไปของแคป่า เปลือกเป็นสีน้ำตาล อมเทาและมีประสีดำขาว เปลือกเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ ทั่วไป เปลือกในสีนวลหรือสีน้ำตาลปนเหลืองอ่อน เรือนยอดเป็นพุ่มรูปไข่ค่อนข้างทึบกิ่งอ่อน เกลี้ยง มีช่องระบายอากาศทั่วไปกิ่งแห้งออกสีดำ

ลักษณะของใบแคป่า เป็นช่อ ช่อใบติดตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ช่อใบรูปขนนก ยาว 12-35 ซม. ใบช่อหนึ่งๆ มีใบย่อยรูปรีหรือ รูปรีแกมรูปไข่กลับ 3-7 ใบ ใบย่อยจะติดตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ส่วนปลายสุดของช่อใบจะเป็นใบเดี่ยวๆ ยาว 5-10 ซม. กว้าง 3-5 ซม. โคนใบสอบและเบี้ยว ปลายใบสอบเรียวแหลม เนื้อใบบางเกลี้ยง เส้นแขนงใบมี 5-7 คู่ มีตุ่มหูดรูปรีๆ ตามยาว เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบทางด้านท้องใบ ขอบใบหยักตื้นๆ หรือเรียบ ก้านใบย่อยยาว 1-3 ซม.


ดอกของแคป่ามีลักษณะเป็น ดอกโตสีขาว รูปแจกันทรงสูงหรือรูปแตร ออกรวมกันเป็นช่อสั้นๆ ตามปลายกิ่ง ช่อดอกแบบติด ดอกสลับ ยาว 2-3 ซม. แต่ละช่อมีดอกอยู่รวมกัน 3-7 ดอก กลีบฐานดอกทรงรูปกรวย ยาว 3-5 ซม. ปลายด้านหนึ่งจะเป็นจงอยผิวคล้ำ โคนกลีบดอกติดกันเป็นหลอดรูปทรงกระบอกตอนครึ่งล่างส่วนครึ่งบนจะบานโป่งออก ทั้งหมดยาว 11-19 ซม. ปลายแยกเป็น 5 กลีบ แผ่กว้างตั้งฉากกับตัวหลอด

เมื่อดอกแคป่า บานเต็มที่กว้างถึง 8 ซม. ผิวกลีบและขอบกลีบจะย่นเป็นริ้ว เกสรตัวผู้มี 2 คู่ สั้นหนึ่งคู่และยาวหนึ่งคู่ ติดอยู่โคนผนังกลีบดอกด้านใน รังไข่รูปขอบขนานภายในมี 2 ช่อง แต่ละช่อมีไข่อ่อนมาก ผล เป็นฝักชนิดเปลือกแข็ง 2 ชั้น รูปขอบขนาน ปลายแหลมยาวถึง 85 ซม. กว้าง 1.2-2 ซม. ฝักคดโค้งหรือบิดไปมา ผิวหนา เรียบและแข็งเป็นแผ่นหนัง จะมีจุดประสีอ่อนกว่าสีพื้นทั่วไป

ส่วนเมล็ดของแคป่า จะมีลักษณะแบนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า บาง เรียงตัวตามความยาวของฝัก มีเยื่อบางๆ ติดบริเวณหัวและท้ายของเมล็ดคล้ายปีก ยาว 2.2-2.8 ซม. กว้าง 5-8 มม.

แหล่งที่พบค้นแคป่าส่วนใหญ่จะพบ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ดังนั้นเราจึงได้ยินชื่อแคป่าอีกหลายๆชื่อ อย่างเช่นจังหวัดเชียงใหม่ เรียกแคป่าว่า แตเก็ดถวา แคขาว ,จังหวัดนครราชสีมา เรียกแคป่า แคทราย,จังหวัดทางภาคเหนือ ส่วนใหญ่จะเรียกแคป่าว่า แคแน แคฝอย ,จังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดลำปาง เรียกแคป่าว่า แคป่า แคพูฮ่อ ,จังหวัดสุราษฎร์ธานี เรียกแคป่าว่า แคยอดดำ และจังหวัดปราจีนบุรี เรียกแคป่าว่า แคยาว แคอาว

ส่วนของแคป่าที่นำมาเป็นอาหาร ที่พบได้บ่อยและเคยได้ชิมรสชาติมาแล้ว นั้นก็คือการนำดอกของแคป่า มาต้มและกินกับน้ำพริก ดอกแคป่ามักจะหล่นอยู่ที่บริเวณพื้นรอบๆต้น ไม่ต้องออกแรงขึ้นเก็บให้เหนื่อย สูงด้วย เคยคิดที่จะหาต้นแคป่ามาปลูกไว้ที่ไร่ ต้นแคป่าที่ขาย เป็นไม้ล้อมที่คนนิยมซื้อมาปลูกกัน ราคาค่อนข้างสูง จะปลูกด้วยเมล็ดก็ยังหาแหล่งไม่เจอ แต่คิดว่าไม่เกินความสามารถ…ต้นแคป่าญาติห่างๆต้นแคบ้าน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น