19 ธ.ค. 2555

ดอกแคสีแดง…กินดีมีประโยชน์ นะจะบอกให้

alt=แคแดง แค…ดอกสีแดง กินได้ครับ ยืนยัน…ฟันธง…ก่อนหน้านี้มักจะมีคนพูดว่า ดอกแค สีแดงกินได้เหรอ ไม่เห็นมีใครเขากินกัน และอีกหลายคำถาม ผมเองตอนแรกๆก็ไม่มีความรู้และไม่มีประสบการณ์โดยตรง เมื่อต้นปี 2554 ผมได้นำหัวมันสำปะหลังไปขายที่สถานรับซื้อ และบังเอิญสถานที่นั้นปลูกต้นแค ไว้ที่หน้าลานตากหัวมันสำปะหลัง เป็นต้นแค ดอกสีแดง เสียด้วย กำลังออกดอก ออกฝัก น่ากิน…อร่อย แซบๆๆๆ

ระหว่างที่ผม กำลังนั่งรอรับเงินค่าขายหัวมันสำปะหลัง ก็พลันลุกจากที่นั่ง เดินไปเก็บดอกแค มาหนึ่งถุงใหญ่ กับฝักของแคแดง มาหลายฝักด้วยกัน ตอนนั้นคิดว่าจะนำไปเพาะเมล็ด และจะนำปลูก เพื่อที่จะทดลองนำส่วนต่างๆของแคแดง มาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น ดอก ใบ(ยอด) ของแคแดงมารับประทาน รวมถึงจะนำไปปลูก เพื่อเป็นไม้พี่เลี้ยง ของต้นผักหวานป่า การที่เราจะนำส่วนของดอก มารับประทาน ปกติเรามักจะไม่เคยเห็นกัน หรืออาจจะไม่เป็นที่นิยม ก็เลยกลายเป็นเรื่องใหม่ๆไป


แคดอกสีแดงเป็นต้นไม้พื้นบ้าน เป็นไม้เนื้ออ่อน นิยมปลูกเป็นรั้วบ้าน บนคันนา และริมถนน ปลูกได้ในทุกพื้นที่ทั้งดินเหนียว ดินร่วน สามารถปลูกไว้ในบริเวณบ้านเพื่อปรับพื้นที่ให้มีปุ๋ย เนื่องจากใบแคที่ผุแล้วทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ การขยายพันธุ์ด้วยฝักที่มีเมล็ดแก่จัด เติบโตได้ มีอายุไม่นาน จะยืนต้นตาย เราลองมารู้จักต้นแคดอกแดง อย่างเป็นทางการกันสักหน่อย

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Sesbania grandiflora  (L.) Desv.
ชื่อสามัญ :   Agasta, Sesban, Vegetable humming bird
วงศ์ :   Leguminosae - Papilionoideae
ชื่ออื่น : แค แคบ้านดอกแดง แคขาว (ภาคกลาง) แคแดง (เชียงใหม่)

อย่างที่บอกไว้แต่ข้างต้น ว่าแคดอกแดงนั้นเป็นต้นไม้ขนาดเล็ก สูง 3-6 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก เปลือกต้นสีน้ำตาลปนเทา ขรุขระ แตกเป็นสะเก็ด ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ ใบย่อยรูปรีขอบขนาน กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 3-4 ซม. ปลายใบและโคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ สีเขียว ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ 2-4 ดอก ดอกสีขาวหรือแดง มีกลิ่นหอม ก้านเกสรเพศผู้สีขาว 60 อัน ผล เป็นฝัก ยาว 8-15 ซม. ฝักแก่แตกเป็น 2 ซีก เมล็ดกลมแป้น สีน้ำตาล มีหลายเมล็ด

ถึงตรงนี้บางคนอาจจะร้องบ้างอ้อ…แท้จริงแล้ว แคดอกสีแดงกับแคดอกสีขาว ก็คือแคชนิดเดียวกัน ที่เราสามารถนำมาปรุงเป็นส่วนประกอบของอาหารได้ เพียงแต่ในพื้นที่บางพื้นที่ เรามักจะไม่พบแค ชนิดดอกสีแดง เท่านั้นเอง สบายใจได้…กินได้ ร้อยเปอร์เซ็นต์

ส่วนที่นำมารับประทานได้ของแค คือ ยอดอ่อน ฝักอ่อนออกในช่วงฤดูฝน ใบอ่อนมีรสหวาน ดอกอ่อนออกในช่วงฤดูหนาว ดอกแคมีเส้นใยอาหาร แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก แคโรทีน วิตามินเอ วิตามินบีหนึ่ง วิตามินบีสอง และวิตามินซี ก่อนนำไปทำอาหารต้องดึงเอาเกสรออกก่อนเพื่อลดความขม อาหารที่นิยมนำเอาดอกแค มาปรุงประกอบอาหาร อาทิ เช่น แกงส้มดอกแค แกงเหลืองปลากะพงดอกแค ดอกใบยอดฝักอ่อนของแคนำมาลวกจิ้มน้ำพริกได้

และส่วนของแคที่สามารถนำมาปรุงเพื่อเป็นสมุนไพรพื้นบ้าน ได้แก่ เปลือกต้น ดอก ใบสด ยอดอ่อน โดยนำเปลือกต้นสามรถนำมาต้มหรือฝน แล้วทานเพื่อเป็นยาสำหรับแก้มูกเลือด แก้ท้องเดิน ท้องร่วง คุมธาตุ หรือจะนำเปลือกต้นปิ้งไฟ 1 ส่วน ต้มกับน้ำหรือน้ำปูนใส 10 ส่วน รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนแกง

สำหรับ ดอกแค รักษาอาการไข้เปลี่ยนอากาศ เปลี่ยนฤดู (แก้ไข้หัวลม) โดยใช้ดอกที่โตเต็มที่ล้างน้ำ ต้มกับหมูทำบะช่อ 1 ชาม รับประทาน 1 มื้อ รับประทานติดต่อกัน 3-7 วัน
นำใบแคสด ต้มกับน้ำรับประทานลดไข้ ใช้ยอดอ่อนจำนวนไม่จำกัด ลวกจิ้มกับน้ำพริก รับประทานแก้ปวดศีรษะข้างเดียว และยังช่วยขับถ่ายได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้เรายังนำใบแคมาตำให้ละเอียด พอกแก้ช้ำชอก ได้อีก

เห็นไหมละว่า แคชนิดดอกสีแดงและแคชนิดดอกสีขาว มีประโยชน์มากมายจริงๆ แม้แต่เกษตรกรที่ปลูกต้นผักหวานป่า เพื่อการค้า ยังนำแค มาปลูกเป็นไม้พี่เลี้ยง เป็นไม้ร่มเงา ซึ่งในโอกาสหน้า ผมจะนำเรื่องการปลูกต้นแค สำหรับเป็นไม้พี่เลี้ยง ของต้นผักหวานป่า มาเล่าสู่กันฟัง……ติดตามกันต่อไปนะครับ


6 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

สนใจปลูกไว้รับประทาน

http://nasithome.lnwshop.com/product/25/เมล็ดดอกแคแดง

noktor กล่าวว่า...

จำหน่ายเมล็ดดอกแคแดง แคขาว 082 694 5116

Unknown กล่าวว่า...

ขายเมล็ดยังไงครับสนใจ

Unknown กล่าวว่า...

ขายเมล็ดยังไงครับสนใจ

Unknown กล่าวว่า...

ยอดเยี่ยม ครับผมกินประจำเลย

Unknown กล่าวว่า...

กินได้ทุกวันนี้ก็กิน

แสดงความคิดเห็น