ผักหวานป่า เป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นพืชเศรษฐกิจ ที่น่าจับตามอง ผักหวานป่าที่พบในธรรมชาติมักจะพบในพื้นที่ ที่เป็นเนินสูง ในป่าเบญจพรรณผสมไผ่ ในประเทศไทยพบมากที่ภาคเหนือ ที่เชียงใหม่ ลำพูน ตาก เชียงราย ลำปาง ภาคอีสานที่อุดรธานี นครพนม สกลนคร นครราชสีมา ภาคกลางพบมากที่กาญจนบุรี สระบุรี ภาคใต้ ที่สุราษฎร์ธานี กระบี่ เป็นต้น
แต่ในปัจจุบันผักหวานป่าที่อยู่ตามแหล่งธรรมชาติ-ป่าภูเขามีจำนวน ลดน้อยลง(เนื่องจากฝีมือมนุษย์ ขุดต้น-ขุดรากเพื่อมาปลูกและบริโภคอย่างไม่อนุรักษ์) ทำให้ผักหวานป่าที่ขายอยู่ตามท้องตลาดมีราคาค่อนข้างแพงตามไปด้วย จึงมีเกษตรกรหัวก้าวหน้า ได้นำผักหวานป่ามาปลูกเพื่อการค้า เช่น การเพาะเมล็ดพันธุ์ (ระยะเวลาเก็บยอด 3-5 ปี) การตอนกิ่ง การปักชำราก(ระยะเวลาเก็บยอด 2-3ปี) แหล่งปลูกผักหวานที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยได้แก่อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี
ตลาดรับซื้อและการส่งออกของยอดผักหวานป่า น่าจะอยู่ที่พื้นที่จังหวัดทางภาคอีสานและภาคเหนือ มากกว่าภาคกลางและภาคใต้ พ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อยอดผักหวานป่า จากเกษตรกรผู้ปลูก ส่วนใหญ่จะนำส่งขายตลาดที่ทางภาคอีสาน และภาคเหนือ (คิดเอาเองนะครับ) อาจจะมีบางคน รวมทั้งผมด้วย มีคำถามอยู่ในใจ ว่าเหตุใด ภาคอีสานและภาคเหนือ น่าจะเป็นตลาดใหญ่ของการซื้อ-ขายยอดผักหวานป่า
หนึ่งตัวอย่างที่เป็น เหตุผลที่สนับสนุน นั้นก็คือ การนำยอดผักหวานป่า ไปประกอบอาหาร และอาหารอีสานก็ขึ้นชื่อ นั้นก็คือ การแกงผักหวานป่าร่วมกับไข่มดแดง และถ้าจะให้สุดยอด ก็ต้องใส่หมี่โคราช ลงไปด้วย(สูตรโคราช) รับรอง…แซบๆๆๆ การแกงผักหวานป่าใส่ไข่มดแดง รู้สึกว่าน่าจะเข้ากันได้ลงตัวมากที่สุด
ปัจจุบัน มีคนที่คิดสูตรอาหาร มากมายหลายอย่าง หลายชนิด และหลายรสชาติ โดยนำผักหวานป่า ไปเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหาร เช่น ก๋วยเตี๋ยวหมูใส่ยอดผักหวานป่า แกงเลียงผักหวานปลาย่าง ห่อหมกผักหวานป่าปลาช่อน ต้มยำไก่บ้านผักหวานป่า ยำกรอบผักหวานป่า ทอดมันผักหวานป่า ยำผักหวานป่ากุ้งสด นอกจากนำมากินแบบสดๆและนำมาเป็นส่วนผสมในการทำอาหารแล้ว ผักหวานป่าสามารถนำมาแปรรูปได้อีกด้วย อาทิ ข้าวเกรียบผักหวานป่า ชาผักหวานป่าที่มีสรรพคุณสามารถต้านอนุมูลอิสระ รักษาผิวพรรณให้สดใสและลบรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าได้อีกด้วย
ปัญหาและอุปสรรคของ การปลูกผักหวานป่า ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ผมเองไม่อยากให้มีปัญหาเหมือนกับการทำเกษตรชนิดอื่นๆหรือปลูกพืชชนิดอื่นๆ เพราะนิสัยคนไทย มักจะเฮโลพากันปลูก อุปสงค์และอุปทาน อาจจะไม่สมดุล จนทำให้ราคาตกต่ำ และก็ไม่อยากเห็นเกษตรกรไทย ปิดถนน เพราะว่าขายสินค้าเกษตรไม่ได้ราคา…การปลูกผักหวานป่า(ตอนที่2)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น