30 มี.ค. 2556

แคป่าแฝดคนละฝากับแคบ้าน

ดอกแคป่า แคป่าแคบ้าน ถ้าไม่เคยเห็นไม่เคยกิน คงจะไม่รู้ถึงความแตกต่าง ความแตกต่างที่เราต้องทำหน้างงๆๆ รูปร่างของดอก ลำต้น แม้กระทั่งใบ แต่เหตุไฉน ถึงเรียกชื่อให้ใกล้เคียงกัน

แคป่า คือชื่อที่เรียกประจำท้องถิ่น ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ ก็คือ Dolichandrone serrulata (DC.) Seem. อยู่ในวงศ์ BIGNONIACEAE เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางผลัดใบ สูง 10-20 เมตร ลำต้นตรงมักแตกกิ่งต่ำ

ลักษณะทั่วไปของแคป่า เปลือกเป็นสีน้ำตาล อมเทาและมีประสีดำขาว เปลือกเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ ทั่วไป เปลือกในสีนวลหรือสีน้ำตาลปนเหลืองอ่อน เรือนยอดเป็นพุ่มรูปไข่ค่อนข้างทึบกิ่งอ่อน เกลี้ยง มีช่องระบายอากาศทั่วไปกิ่งแห้งออกสีดำ

ลักษณะของใบแคป่า เป็นช่อ ช่อใบติดตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ช่อใบรูปขนนก ยาว 12-35 ซม. ใบช่อหนึ่งๆ มีใบย่อยรูปรีหรือ รูปรีแกมรูปไข่กลับ 3-7 ใบ ใบย่อยจะติดตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ส่วนปลายสุดของช่อใบจะเป็นใบเดี่ยวๆ ยาว 5-10 ซม. กว้าง 3-5 ซม. โคนใบสอบและเบี้ยว ปลายใบสอบเรียวแหลม เนื้อใบบางเกลี้ยง เส้นแขนงใบมี 5-7 คู่ มีตุ่มหูดรูปรีๆ ตามยาว เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบทางด้านท้องใบ ขอบใบหยักตื้นๆ หรือเรียบ ก้านใบย่อยยาว 1-3 ซม.


28 มี.ค. 2556

การปลูกผักหวานป่า ตอน การตัดแต่งกิ่งเพื่อกระตุ้นให้แตกยอดอ่อน

ผักหวานป่าแตกยอด ประสบการณ์ ในการปลูกผักหวานป่า 3 ปีที่ผ่านมา สามารถบอกได้เต็มปากเต็มคำ การปลูกผักหวานป่าที่ประหยัดที่สุด รอดตายมากที่สุด ต้องปลูกผักหวานป่าด้วยเมล็ดเท่านั้น ความแตกต่างของการปลูกผักหวานป่าด้วยกิ่งตอนและเมล็ดพันธุ์ ที่เห็นได้ชัด นั้นก็เรื่องของราคา กิ่งตอนราคาอยู่ราวๆ 200-300 บาท ขณะที่เมล็ดพันธ์ ราคาอยู่ประมาณเมล็ดละ 2-3 บาท และถ้าเป็นต้นกล้าที่อยู่ในถุงเพาะราคาประมาณ15-25 บาท

การปลูกผักหวานป่าด้วยกิ่งตอน ใช้เวลา 1-2 ปี ก็จะสามารถเก็บยอดขายได้ แต่อย่าลืม ราคากิ่งพันธ์ 200-300 บาทใช้เงินทุนไม่น้อย และถ้าจะปลูกเพื่อการค้าก็ต้องปลูกเป็นจำนวนมาก ขณะที่การปลูกผักหวานป่าด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ถ้าศึกษาเรียนรู้อย่างถูกวิธี จะเป็นการขยายพันธุ์ที่ใช้ต้นทุนต่ำ อัตราการรอดตายมากที่สุด และที่สำคัญการปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์เป็นวิธีที่ได้รากแก้วและระบบรากที่สมบูรณ์ ถึงแม้นว่าจะต้องใช้เวลาปลูกอย่างน้อย 3-4 ปี ถึงจะสามารถเก็บยอดขายได้

ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผักหวานป่าด้วยวิธีการปลูกด้วยกิ่งตอน หรือปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์ก็ตาม ถ้าปลูกเพื่อเก็บยอดขาย เราก็จะต้องมีวิธีการที่จะทำให้ต้นผักหวานป่า แตกกิ่งแตกยอดเป็นจำนวนมากๆในจำนวน 1 ต้น เมื่อมีหลายต้น หลายร้อยต้น แน่ละผลผลิตก็ย่อมมากขึ้น มียอดให้เก็บมากขึ้น รายได้ก็ย่อมจะได้มากขึ้นเช่นกัน


22 มี.ค. 2556

การปลูกต้นผักหวานป่า ตอน การดูแลต้นผักหวานป่าแบบง่ายๆแต่ได้ผล

การดูแลต้นผักหวานป่า การดูแลต้นผักหวานป่า ที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษ ก็เริ่มตั้งแต่การนำเมล็ดต้นผักหวานป่า ไปปลูกลงในหลุมดิน หรือปลูกในถุงเพาะ อย่างแรกก็ต้องหมั่นรดน้ำ อย่าให้ดินบริเวณหลุมหรือถุงเพาะแห้งเป็นอันขาด ระยะนี้รากของต้นผักหวานป่ากำลังแทงรากลงไปในดินในระดับแนวดิ่ง อาจจะใช้เวลาหลายวัน และอาจจะนานเป็นเดือน และเมื่อรากลงลึกในระดับหนึ่งแล้ว ต้นผักหวานป่าก็จะแทงยอดพ้นดินขึ้นมาให้เห็น

ถ้าเราปลูกต้นผักหวานป่า จำนวนมากๆ และหลังจากที่ต้นผักหวานป่าเริ่มแทงยอดพ้นดินขึ้นมาแล้ว หลุมไหนหรือถุงเพาะถุงไหนยังไม่เห็นยอดต้นผักหวานป่า แทงยอดขึ้นมาอย่าเพิ่งรีบทิ้ง ให้ดูแลต่อไปอีกระยะหนึ่ง บางที่อาจจะมีต้นผักหวานป่าหลงแทงยอดขึ้นมาให้เห็นได้อีก ดูแลรดน้ำต่อไปตามปกติ

การปลูกต้นผักหวานป่าภายใต้ร่มเงาของไม้พี่เลี้ยง น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เป็นการให้ต้นไม้ดูแลกันเอง ตามกลไกของธรรมชาติ และธรรมชาติของต้นผักหวานป่าเอง กว่าที่จะเอาตัวรอดได้ อาจจะใช้เวลา 2-3 ปี ลองนึกภาพดูถ้าเราปลูกต้นผักหวานป่าโดยไม่พึ่งไม้พี่เลี้ยง โดยใช้วิธีการสร้างตาข่ายล้อม หรือใช้ตะกร้าครอบไว้ ต้นผักหวานป่าโตขึ้นทุกวัน และใหญ่ขึ้นทุกเดือน เราก็จะต้องเปลี่ยน ภาชนะบ่อยๆ สิ้นเปลืองรายจ่ายโดยไม่จำเป็น

การดูแลต้นผักหวานป่าในระบบนิเวศ ในสภาพแวดล้อมที่เป็นแบบธรรมชาติ นั้นไม่ยุ่งยาก ให้น้ำให้ปุ๋ยตามกำหนดเวลา เมื่อมีแมลงหรือหนอนผีเสื้อมากัดกินยอดและใบของต้นผักหวานป่า ไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องฉีดยาฆ่าแมลงหรือยาไล่แมลง เพราะว่าแมลงหรือหนอนผีเสื้อ กำลังตัดแต่งต้นผักหวานป่า ให้แตกกิ่งแตกยอด ขึ้นมาเองโดยไม่ต้องเหนื่อย


10 มี.ค. 2556

ศัตรูตัวเอกของมะกรูด

alt=หนอนกินใบมะกรูด ผมได้มีโอกาสไปเที่ยวชมสวนมะกรูดในพื้นที่แห่งหนึ่ง ต้นมะกรูดจำนวนหลายร้อยต้น ในพื้นที่จำนวนสิบๆไร่ ภาพที่เห็น ต้นมะกรูดสูงราวๆ1ฟุต กำลังแตกยอดแตกกิ่ง ตื่นเต้นไปกับเกษตรกรชาวสวน ไม่น่าเชื่อว่าพืชที่เราพบเห็นอยู่ทั่วๆไปของประเทศไทย จะสามารถทำเงินให้กับเกษตรกรผู้ปลูกได้ ใช่แล้วครับเรากำลังพูดถึงการผลิตใบมะกรูดเชิงการค้า กลับจากการที่ได้ไปเที่ยวชมสวนมะกรูด ผมก็ค้นคว้าหาข้อมูลกันยกใหญ่ การปลูกมะกรูดเพื่อการค้าเป็นพืชที่น่าสนใจ วินาทีนั้นผมตัดสินใจที่จะปลูกมะกรูดเพื่อขายใบขายลูกกับเขาบ้าง

มะกรูด จัดเป็นพืชท้องถิ่นที่ขึ้นตามธรรมชาติในพื้นที่ของอินเดีย พม่า ศรีลังกา ไทย คาบสมุทรมลายูและฟิลิปปินส์ เป็นต้น มะกรูด มีชื่อเรียกอื่นๆในประเทศไทยอีกจำนวนมากของแต่ละพื้นที่ เช่น มะขุน มะขูด มะขู ส้มกรูด ส้มมั่วผี ฯลฯมะกรูดเป็นพืชที่สามารถนำมาใช้ในเครื่องอุปโภคหลายชนิด อาทิ สบู่ ยาสีฟัน น้ำยาล้างจาน เครื่องสำอางน้ำมันหอมระเหย หรือจะผลิตใบและผลขายส่งโรงงานแปรรูปน้ำมันหอมระเหย

และในทางการแพทย์ไทยมีการใช้มะกรูดเป็นยาหรือส่วนผสมของยาต่างๆ อาทิ น้ำในผลมะกรูดแก้อาการท้องอืด ช่วยให้เจริญอาหาร น้ำมะกรูดใช้ดองยาเพื่อใช้ฟอกเลือด และบำรุงโลหิตในสตรี ส่วนของเนื้อนำมาใช้เป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ ส่วนของใบมะกรูดใช้เป็นยาขับลมในลำไส้แก้อาการจุกเสียด


8 มี.ค. 2556

ปลูกฟักแฟง ,,,ให้ติดผลง่ายนิดเดียว

alt=ฟักแฟง
การที่จะลงมือปลูกฟักแฟง สักต้นสองต้น นั้นเป็นเรื่องที่ง่ายมาก แต่การที่จะปลูกฟักแฟง สักต้นสองต้น แล้วมีดอกมีผล ให้ได้กินได้ทานกัน นี้ซิเป็นเรื่องน่าคิด มีคนหลายๆคนที่ปลูกฟักแฟงแล้ว มีแต่ดอกไม่มีผล ใส่ปุ๋ยให้น้ำกันอย่างเต็มที่ ต้นฟักแฟงเองก็งามจนมีดอกมากมาย แต่ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของฟักแฟง เรียนรู้และลงมือปฏิบัติ บวกกับเทคนิคนอกตำราเรียนเพิ่มเติม แค่นี้แหละรับรองปลูกฟักแฟง หนึ่งต้น ร้อยต้น มีผลให้ได้กิน แน่นอน

ฟักเขียว หรือ ฟักแฟง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Benincasa hispida; อังกฤษ: winter melon) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า "ฟัก" เป็นผักพื้นบ้านพืชล้มลุกจำพวกไม้เถาตระกูลแตงลำ ใบสีเขียวลักษณะหยักหยาบ ดอกมีสีเหลือง ผลกลมยาวมีนวลขาว ปลูกกันมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียใต้

ฟักแฟง หรือ ฟักเขียว ในประเทศไทยมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างกันไป เช่น ภาคเหนือ - ฟักขี้หมู, ฟักจิง, มะฟักขม, มะฟักหม่น, มะฟักหม่นขม ,ภาคอีสาน - บักฟัง ,ภาคกลาง - ฟักขาว, ฟักเขียว, ฟักจีน, แฟง , ภาคใต้ - ขี้พร้า ,แม่ฮ่องสอน - มะฟักหอม ,ชาวกะเหรี่ยง/แม่ฮ่องสอน - ดีหมือ, ลุ่เค้ส่า ,จีนแต้จิ๋ว - ตังกวย, ตี่จือ


5 มี.ค. 2556

การปลูกผักหวานป่า ตอน ใบผักหวานป่าสีขาว

alt=ผักหวานป่าใบขาว
เมื่อปีก่อน ผมได้ซื้อเมล็ดผักหวานป่า จำนวน 200 กว่าเมล็ด มาเพาะและปลูกที่ไร่ เมื่อต้นผักหวานป่างอกและเจริญเติบไปได้ สองสามเดือน มีความผิดปกติของใบผักหวานป่า ที่เพาะจากเมล็ด จำนวนสิบกว่าต้นคือ มีสีของใบไม่เหมือนใบไม้ที่พบเห็นได้ทั่วไป จากใบสีเขียวกลายมาเป็นใบสีขาว ไม่ใช่แค่ใบเดียว แต่เป็นทั้งต้น

ใบไม้เปลี่ยนสี คงจะเป็นเรื่องที่ไม่แปลกมากนัก เพราะว่าเป็นการเปลี่ยนไปตามหลักของธรรมชาติ ที่พบเห็นบ่อยๆ คือการเปลี่ยนจากใบไม้ที่มีสีเขียว เปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองอ่อน สีส้ม และสีน้ำตาล เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ใบไม้ที่เปลี่ยนสีเหล่านี้ จะกลายเป็นใบไม้แห้ง และร่วงหล่นจากต้นลงสู่พื้นดิน

“สีเขียวของใบไม้เกิดขึ้นเนื่องมาจากสารสีคลอโรฟิลล์ พบอยู่ในคลอโรพลาสต์ (chloroplast) ซึ่งมี โครงสร้างที่มีลักษณะคล้ายถุงแบนๆ มีเยื่อหุ้ม เรียกว่า ไทลาคอยด์ (thylacoid) และบนไทลาคอยด์ นี้เองที่มี คลอโรฟิลล์ที่ทำหน้าที่ในการรับพลังงานจากดวงอาทิตย์ เพื่อเป็นแหล่งพลังงานในกระบวนการสร้างอาหาร ของ พืชด้วยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง (photosynthesis) ซึ่งกระบวนการสร้างอาหารของพืชจะเกิดขึ้น บริเวณส่วนที่เป็นสีเขียวของพืช เช่น ใบ