16 เม.ย. 2556

การปลูกผักหวานป่าในรอบปีที่ผ่านมา ตอนที่1

alt=ต้นผักหวานป่ากับต้นแคแดง การปลูกผักหวานป่าในรอบปีที่ผ่านมา สถิติและข้อมูลที่น่าสนใจ บางสิ่งที่ไม่ตรงกับ ปราชญ์เกษตรหลายๆท่านและก็มีข้อมูลบางอย่างที่สอดคล้องกับเกษตรกรผู้ปลูกผักหวานป่า ดังนั้นข้อมูลที่ได้จากการเรียนรู้จากภาคสนาม จะใช้เป็นแนวทางในการทำงาน ในการปลูกผักหวานป่าของปีต่อๆไป

ข้อมูลของการปลูกผักหวานป่าที่ได้ผ่านการศึกษาและเรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรง พอที่จะสรุปได้ดังนี้
· ปลายเดือนมีนาคม 2555 เมล็ดผักหวานป่า จำนวน 229 เมล็ด จากป่าบนภูเขาที่อยู่ใกล้ไร่กาญจนา เมล็ดมีสีเหลืองประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์
· นำเมล็ดผักหวานป่าทั้งหมดมาบ่มเพื่อให้เปลือกอ่อนนุ่ม จำนวน 5 วัน
· แกะเปลือกเมล็ดผักหวานป่าด้วยมือล้วนๆแช่น้ำที่มีทราย แล้วใช้มือขยี้เมล็ดผักหวานป่าพร้อมกับเมล็ดทรายอีกครั้ง เพื่อให้ทรายช่วยขัดเปลือกของเมล็ดผักหวานป่า อีกรอบ
· เมื่อขัดเมล็ดผักหวานป่า จนเปลือกหลุดจนหมดแล้ว นำเมล็ดที่ได้ไปผึ่งลมในที่ร่ม จนแห้งสนิท
· นำเมล็ดผักหวานป่าที่ผึ่งลมจนแห้ง ไปแช่น้ำเปล่า เพื่อทดสอบความสมบูรณ์ของเมล็ด เมล็ดที่จมน้ำจะมีความสมบูรณ์ อัตราการงอกสูง ให้แช่น้ำยาเร่งราก ประมาณ 30 นาที ส่วนเมล็ดที่ลอยน้ำ ให้นำไปแช่น้ำยาเร่งราก สักประมาณ 60 นาที(ขั้นตอนนี้เมื่อปีแล้ว น่าตกใจ เมล็ดผักหวานป่า จำนวน 229 เมล็ด เมล็ดที่จมน้ำ จำนวน 179 เมล็ด เมล็ดที่ลอยน้ำ จำนวน 50 เมล็ด)

7 เม.ย. 2556

ตอไผ่เลี้ยงหวานกับราสีส้ม

ราสีส้มบนต่อไม้ไผ่ หลังจากที่ได้ตัดกอไผ่เลี้ยงหวานจำนวนหลายสิบกอ เพื่อปรับพื้นที่บริเวณนี้สำหรับที่จะปลูกผักหวานป่า อันที่จริงผมได้ปลูกผักหวานป่า จำนวนร้อยกว่าต้น เมื่อปีที่แล้วและอยู่รอดปลอดภัยเติบโตตามวัย มาจนถึงวันนี้ก็สักประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นไม่งอกจากเมล็ด ไม่โตและเปลี่ยนใบจากสีเขียวเป็นใบสีขาว และต้นตายเมื่องอกจากเมล็ดได้ไม่นาน

พื้นที่ตรงบริเวณนี้เคยเป็นไร่มันสำปะหลังมาก่อน และก่อนหน้านั้นก็เคยปลูกทานตะวัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และพืชอีกหลายชนิด เกษตรกรก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ ยิ่งปลูกยิ่งจนทั้งที่พืชบางชนิดเป็นพืชเศรษฐกิจ และสามารถสร้างความรวยและความจนไปพร้อมๆกัน ถ้าการบริหารจัดการที่ดี ราคาขึ้นๆลงๆ ของพืชแต่ละชนิด ตามความต้องการของตลาดและตามความต้องการของเกษตรกร(อยากปลูก) แห่พากันปลูกมาก ราคาพืชผลก็จะแปรผันไปด้วย

นี้ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผล ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง และเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ จากที่เคยปลูกพืชไร่ มาหลายสิบปี จนดินสำหรับเพาะปลูกแข็งกระด้าง แร่ธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืชลดลง ยิ่งปลูกรายได้ยิ่งลด ตรงกันข้ามกับราคาปุ๋ยที่มีแต่จะสูงขึ้น ราคายาปราบศัตรูพืชก็เช่นกัน แถมยังเป็นภัยกับตัวเกษตรกรอีกด้วย

ระยะเวลา 5-10 ปีมานี้ มีพืชที่นิยมปลูกตามกระแส ไม่ว่าจะเป็นการปลูกไผ่เพื่อขายหน่อ ผมเองก็เอากับเขาด้วยปลูกไผ่เลี้ยงหวานจำนวน 40 กอ เพื่อขายหน่อและเพื่อตัดลำไว้ใช้งาน ปลูกไผ่หม่าจู จำนวน 50 กอ และปลูกไผ่กิมซุ่งหรือไผ่ตงลืมแล้ง ประมาณ 200 กว่ากอ ปัจจุบันไผ่กิมซุ่งให้ผลผลิตแล้ว ไผ่หม่าจูก็กำลังดูแลยังไม่เร่งขายหน่อ ส่วนไผ่เลี้ยงหวานได้ตัดกอไผ่ทั้งหมด เพื่อปรับเปลี่ยนปลูกผักหวานป่า ซึ่งก็ได้ปลูกไปบ้างแล้วเมื่อปีก่อน ส่วนปีนี้กำลังปรับเปลี่ยนเพื่อจะปลูกผักหวานป่า อีกสัก 500 ต้น