26 ก.พ. 2556

การทำจุลินทรีย์หน่อกล้วย เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า

alt=จุลินทรีย์หน่อกล้วย
จากบทความเรื่อง “กล้วยน้ำว้าล้มทั้งยืน เมื่อสายลมหนาวพัดผ่าน” ที่ได้เขียนไว้เมื่อครั้งก่อน ทำให้เกิดความคิดในการต่อยอด เพื่อไม่ให้การล้มของกล้วยน้ำว้าต้องเสียเปล่า ใช่แล้วครับ ผมได้นำต้นกล้วยน้ำว้า ซึ่งกำลังมีลูกและหัวปลี นำมาทำปุ๋ยจากทุกๆส่วนของกล้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด บางท่านบางคนอาจจะสงสัยว่า การทำจุลินทรีย์หน่อกล้วยนั้น ทำไมต้องใช้เฉพาะหน่อกล้วย ลำต้นได้ไหม ใบได้ไหม หรือว่าลูกกล้วยและหัวปลีของกล้วยได้ไหม

การนำกล้วยไปปลูกในพื้นที่สวนพื้นที่ไร่ สภาพของดินก่อนปลูกและหลังปลูกจะเปลี่ยนไป เมื่อปลูกกล้วยไปได้ในระยะหนึ่ง ถ้าลองสังเกตุดู จะพบว่าดินรอบๆกอกล้วยมีความร่วนซุยขึ้น อุ้มน้ำมากขึ้น ถ้าขุดดินลงไปอาจจะพบไส้เดือนที่มาหาอาหารและมาอาศัยอยู่ ไส้เดือนนี้จะกินและถ่ายมูล อาจจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น

กล้วยเป็นพืชที่สะสมน้ำ คนสมัยก่อนจึงมักจะปลูกชนิดอื่นไว้ใกล้กอกล้วย เพื่อให้กล้วยช่วยเลี้ยง จนกว่าต้นไม้นั้นจะโตพอที่จะหาน้ำเองได้เมื่อถึงเวลาจำเป็น และที่สำคัญความชื่นที่อยู่รอบๆกอกล้วยยังมีสิ่งชีวิตเล็กๆ ที่เรียกว่าจุลินทรีย์มาอาศัยและช่วยสร้างผลประโยชน์ให้ ช่วยปรับปรุงดินจากดินที่ไม่มีชีวิตให้พื้นคืนชีพอีกครั้ง


ดังนั้นการที่จะนำกล้วยไปทำเชื้อจุลินทรีย์ จึงจำเป็นที่ต้องคัดเลือกนำส่วนของกล้วยที่อยู่ใกล้กับดินให้มากที่สุด ใช่แล้วครับเราจึงเลือกหน่อกล้วยนั้นเอง แต่ถ้านำไปทำปุ๋ยน้ำหมัก ใช้ทุกส่วนของกล้วย นอกจากนั้น หน่อกล้วยยังมีน้ำยางฝาด หรือสารแทนนินในปริมาณมาก เมื่อหมักแล้ว น้ำที่หมักได้ ยังสามารถนำมาใช้ ในการควบคุมโรคพืชบางอย่างได้ ทั้งยังสามารถนำไปใช้ปรับปรุงสภาพน้ำที่เน่าเสียให้ฟื้นสภาพกลับดีขึ้นได้อีกด้วย วิธีการทำจุลินทรีย์หน่อกล้วยก็ไม่ยาก

1.เลือกหน่อกล้วยที่มี ความสูง 1 เมตร จากพื้นถึงยอด หรือ มากกว่านิดหน่อย เป็นหน่อชิดที่สมบูรณ์ แข็งแรง ไม่มีโรค เกิดจากต้นแม่ที่สมบูรณ์แข็งแรงให้ผลผลิตดี ทั้งต้นแม่และหน่ออยู่ในบริเวณที่ดินมีค่ากรด-ด่าง เป็นกลาง หรือกรดอ่อนๆ
2.ขุดหน่อขึ้นมาให้มีเหง้าติดรากมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ สลัดดินทิ้งไปให้เหลือติดรากไว้เล็กน้อย ไม่ต้องล้างน้ำ
3.สับเล็กๆหรือบดละเอียดทั้งต้น (ราก เหง้า ต้น ใบ)

อัตราการผสมทำจุลินทรีย์หน่อกล้วย ใช้หน่อกล้วยจำนวน 3 ส่วน + กากน้ำตาล 1 ส่วน
บรรจุ ลงในภาชนะที่ไม่ใช่โลหะ คลุกเคล้าให้เข้ากันดี เก็บในที่ร่ม อุณหภูมิห้อง คนบ่อยๆเพื่อเร่งอากาศให้แก่จุลินทรีย์ หมักนาน 15-30 วัน กรองเอากากออก แล้วคั้นเอาแต่น้ำเก็บไว้ เรียกน้ำหมักนี้ว่า “จุลินทรีย์หน่อกล้วย”

วิธีใช้การจุลินทรีย์หน่อกล้วย
1.ปรับปรุงโครงสร้างของดิน และ กำจัดเชื้อโรคในดิน ผสมจุลินทรีย์หน่อกล้วย 20-40 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ราดรดลงดินร่วมไปพร้อมๆกับการให้น้ำ ซึ่งการใช้ในแต่ละครั้ง รวมทั้งหมดแล้ว อย่าให้เกิน 5 ลิตร ต่อ ไร่
2.ป้องกันกำจัดโรคพืช โดยผสมจุลินทรีย์หน่อกล้วย 1 ส่วน กากน้ำตาล 1 ส่วน เหล้าขาว 35 ดีกรี 1 ส่วน และน้ำส้มสายชูกลั่น 5% 1 ส่วน หมัก 24 ชั่วโมง ใช้ 10-20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร สำหรับฉีดพ่นล้างน้ำฝนหลังฝนหยุดตก  โดยเฉพาะฝนที่ตกหลังหลังช่วงแล้วมานานเกิน 3 เดือน ล้างหมอกอุ่นแดดออก และฉีดพ่นกันน้ำค้างตอนเย็นเพื่อป้องกันโรคพืช
3.ปรับปรุงคุณภาพน้ำในร่องสวน สระเก็บกักน้ำ และบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ใส่จุลินทรีย์หน่อกล้วย 1 ลิตร ต่อน้ำ 10,000 ลิตร
4.ล้างทำความสะอาดคอกสัตว์ ฉีดพ่นด้วยน้ำจุลินทรีย์ 1 ลิตร ต่อน้ำ 100 ลิตร
5.เร่งการย่อยสลายเศษซากอินทรีย์วัตถุ หรือดับกลิ่นขยะของเน่าเสีย ฉีดพ่นด้วย จุลินทรีย์หน่อกล้วย 1 ลิตรต่อน้ำ 100 ลิตร กรณีหมักฟางในนาข้าว ใช้จุลินทรีย์หน่อกล้วย 10 ลิตร ต่อ พื้นนา 1 ไร่

วิธีการทำและอัตราส่วนในการใช้จุลินทรีย์หน่อกล้วย ทั้งหมดนี้สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสม และ เพื่อนำไปใช้ในสภาพพื้นที่จริงๆ ได้

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

กรองน้ำหมักเก็บไว้ได้นานแค่ไหนคะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

6 เดือนครับ

Unknown กล่าวว่า...

ดีมาก - ขอบคุณค่ะ

แสดงความคิดเห็น