28 ม.ค. 2556

การปลูกผักหวานป่า ตอนที่3

หลังจากที่เราได้นำเมล็ดผักหวานป่า ที่สุกและสมบูรณ์ คือมีสีเหลืองทั้งเมล็ด ให้นำมาใส่ไว้ในภาชนะที่ระบายอากาศได้ดีเพื่อที่จะให้เปลือกอ่อนนุ่ม จะสะดวกในการเอาเปลือกและเนื้อออก ถ้าเมล็ดผักหวานป่ามีจำนวนไม่มากนัก ให้ใช้มือ โดยสวมถุงมือเพื่อป้องกันการระคายเคือง แต่ถ้ามีเมล็ดผักหวานป่าจำนวนมากๆ การเอาเนื้อและเปลือกออกโดยการเยียบย่ำ แต่ต้องไม่ลง น้ำหนักมากจะทำให้เมล็ดผักหวานป่าช้ำและเกิดความเสียหายได้ซึ่งจะมีผลต่อ การงอก

หลังจากที่เราเอาเปลือกและเนื้อออกหมดแล้ว ต่อจากนั้นให้นำเมล็ดผักหวานป่า ไปล้างด้วยน้ำเปล่าจนแน่ใจว่าสะอาด เพราะเนื้อผลผักหวานมีรสหวาน เชื้อราชอบ และถ้าเกิดเชื้อราแล้วเมล็ดจะเสื่อมความงอก แล้วจึงนำเมล็ดผักหวานป่า วางเรียงบนกระสอบป่านหรือภาชนะอื่นๆที่สามารถถ่ายเทอากาศได้ดี และเก็บไว้ในที่ร่มประมาณ 2-3 วัน ห้ามตากแดดเป็นอันขาด เกลี่ยให้เสมอกันถ้ามีจำนวนมากใช้ซ้อนกันได้ไม่เกิน 3 ชั้น

เมื่อเราตากเมล็ดผักหวานป่า ครบจำนวน 2-3 วันแล้ว ให้นำเมล็ดผักหวานป่า ไปเพาะเมล็ด และก่อนที่จะเพาะให้เราคัดเลือกเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ ออกจากเมล็ดที่สมบูรณ์ก่อน โดยวิธีการแบบง่ายๆ นั้นก็คือ นำเมล็ดผักหวานป่าที่ได้ทั้งหมดไปแช่น้ำ แล้วคัดแยกออก โดยนำเมล็ดที่ลอยน้ำใส่ไว้ในภาชนะที่มีน้ำยาเร่งราก ที่มีส่วนผสมของวิตามินบี 1 ประมาณ 30 นาที


25 ม.ค. 2556

จุดอ่อนของไผ่กิมซุ่ง(ตงลืมแล้ง)

alt=ไผ่กิมซุงถอนราก ถ้าพูดถึงจุดเด่นหรือจุดแข็งของไผ่กิมซุ่ง(ไผ่ตงลืมแล้ง)และอีกหลายๆชื่อของไผ่ชนิดนี้ นั้นก็คือ หน่อดก รสชาติดี ไม่ขมมาก หน้าแล้งก็ออกหน่อ ทนน้ำท่วมขังได้นาน ถึง 3เดือน ฯลฯ แต่ใครจะรู้บ้างไหมว่า ไผ่กิมซุ่ง นี้ก็มีจุดอ่อนหรือจุดด้อย เหมือนกันกับไผ่ตงทั่วๆไป

เวลาที่เราไปซื้อกิ่งพันธุ์ไผ่กิมซุ่ง เชื่อเหอะ ร้อยทั้งร้อย ผู้ขายมักจะต้องแนะนำและเชียร์สุดใจขาดดิ้น ไผ่กิมซุ่งนี้นะ ปลูกง่ายโตไว ปลูกได้ทุกสภาพพื้นที่ อายุประมาณ 7เดือนเก็บหน่อขายได้ หน่อดก รสชาติหวาน ทำหน่อออกฤดูแล้งราคาดี ตลาดต้องการสูง แค่นี้ก็ตาลุกวาวแล้ว

ผมเองก็ยังต้องซื้อกิ่งพันธุ์ จำนวนหลายสิบกิ่ง ตามคำแนะ ตามคุณสมบัติที่โฆษณา จากผู้ขาย หลังจากที่ผมปลูกไผ่กิมซุ่งได้ ไม่ถึงเดือน กิ่งไผ่เริ่มมีอาการใบเหลือง และเปลี่ยนไปเป็นใบสีขาว ใบร่วงหล่น หลังจากนั้นผมก็ขุดกิ่งไผ่ขึ้นมาดู ก็พบว่า รากไผ่เน่า ซึ่งในตอนนั้นผมไม่รู้และไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริง

ดินที่เหมาะสำหรับปลูกไผ่ จริงๆแล้วเราสามารถปลูกไผ่ได้ทุกสภาพพื้นที่ แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงดินที่มีน้ำท่วมถึง และขังเป็นเวลานาน พื้นที่มีการระบายน้ำไม่ดี โดยเฉพาะพื้นที่มีสภาพเป็นดินเหนียว ดังนั้นถ้าเราปลูกในสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์ กอไผ่ก็ย่อมที่จะเจริญเติบโตได้ดี ทำให้ไผ่มีหน่อดกและขนาดใหญ่


22 ม.ค. 2556

สะเดาน้ำปลาหวาน สุดยอด สะเดาน้ำพริกป่น สุดแซบ

alt=ดอกสะเดา
ทำไมสะเดาจึงมันและทำไมสะเดาจึงขม อันที่จริงรสชาติของสะเดาทั้งสองชนิด ไม่แตกต่างกันมากนัก หลายๆท่านที่ชอบกินสะเดา ก็มักจะเลือกการกินสะเดา กับน้ำปลาหวานใส่กุ้งเผา และก็กินกับปลาดุกย่าง เพื่อหลีกเลี่ยงความขมของสะเดา ทั้งที่รสชาติความขมของสะเดาถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง

สมัยเด็กๆ ผมมักจะไปเที่ยวบ้านคุณย่า และที่บ้านของคุณย่า จะมีต้นสะเดาอยู่หลายต้น ผมไปหลายครั้งหลายหน ก็ยังไม่มีโอกาสได้ลิ้มลองรสชาติของสะเดาสักที และเมื่อผมเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่หก ก็จะไปกราบลาคุณย่า เพื่อที่จะเดินทางไปเรียนต่อในเมือง คราวนั้นแหละที่ผมได้กินสะเดาเป็นครั้งแรกในชีวิต คำแรกขณะกำลังเคี้ยวสะเดาอยู่ในปาก รสชาติของยอดสะเดา…ขมจะบอกใคร ขมจริงๆๆ

สมัยนั้นไม่รู้หรอกว่า สะเดามันกับสะเดาขม ต่างกันอย่างไร กินกี่ทีกินกี่ครั้ง ก็มีความรู้สึกว่าสะเดานี้ขมจริงๆ ขมอย่างเดียว จะเป็นรองก็แค่ความขมของต้นบอระเพ็ด การกินของคนอีสาน ก็ไม่ได้มีอะไรมากมายนัก น้ำพริกป่น กับ ปลาร้าสับ ใส่ตะไคร้ซอยสักหน่อย แค่นี้ ก็อร่อยแบบติดดิน


17 ม.ค. 2556

ยูคา…ไม้เศรษฐกิจเมื่อวันวาน

alt=ต้นกระดาษ เมื่อหลายปีก่อน หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนปลูกต้นยูคา ในพื้นที่ว่างเปล่า ไม่ว่าจะเป็นหัวคันนา ริมบ่อน้ำ แม้กระทั้งพื้นที่ไร่พื้นที่สวนรกร้าง ให้หันมาปลูกพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ นามว่า “ต้นกระดาษ”ด้วยกลยุทธทางการค้าแบบพื้นๆ รับซื้อผลผลิตในราคารับประกัน…

ช่วงเวลานั้น ไม่ว่าผมจะมองไปทางไหน เห็นแต่ต้นยูคา ขึ้นเต็มไปหมด โดยเฉพาะตามหัวไร่ ปลายคันนา แน่นอน รัฐส่งเสริมให้ปลูก เราต้องเชื่อ แจกต้นกล้าฟรี โฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่เรื่องดีดี เรายิ่งมั่นใจ…กว่าจะรู้อีกทีก็หลายปีผ่านไป…ตู ไม่น่าปลูกเลย ฮ่าๆๆๆๆ

ผมเองก็เอากับเขาด้วย ปลูกบนพื้นที่ไร่ พื้นที่เคยปลูกมันสำปะหลัง มาก่อน ก็ปลูกไม่มากไม่น้อย จำนวน 1,000 ต้น เหตุผลหลักๆ ก็คือ ปลูกยูคาแล้วไม่ต้องดูแลมาก ให้น้ำน้อย ให้น้ำมากก็ช่วงเวลาที่ต้นยังเล็กๆ ปุ๋ยก็ไม่ต้องใส่ ปล่อยทิ้งไว้ 3-4 ปี ขายลำต้นเพื่อส่งโรงงานผลิตกระดาษ ก็ได้เงินใช้ หรือจะตัดลำต้น ตามขนาด แล้ววางขายข้างริมทาง ก็คงจะพอได้เงินบ้าง


15 ม.ค. 2556

ใบไผ่แห้ง…เชื้อไฟแห่งขุนเขา

alt=ใบไผ่แห้ง
ยามค่ำคืนช่วงเวลาข้างแรม 13-14 ค่ำ เป็นช่วงเวลาที่ท้องฟ้าจะมืดมิด ดวงดาวส่องแสงเต็มท้องฟ้า เหมาะสำหรับออกมาส่องดูดวงดาวเพื่อศึกษา…ขณะที่อีกฟากหนึ่งของท้องฟ้า ยังมีแนวเขา ที่เรียงรายรอบๆๆ บ้านพักในไร่ ทำให้บรรยากาศในตอนกลางคืน เงียบสงบ ทำให้น่ากลัวยิ่งนัก

เมื่อฤดูหนาวมาเยือน อากาศที่นี้จะหนาวเย็น บวกกับมีลมแรง ที่พัดมาเป็นระยะๆ ดังนั้นเมื่อเกิดไฟไหม้บนภูเขาทีไร ผมเองก็จะรู้สึกหนาวๆร้อนทุกที บนภูเขาเต็มไปด้วยใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นลงมากองบนพื้นดิน โดยเฉพาะใบไผ่แห้ง จะเป็นเชื้อไฟอย่างดีทีเดียว

เมื่อใดที่มองเห็นแสงไฟบนเนินเขา สว่างเป็นทางยาวหลายสิบเมตร แสงไฟที่เกิดจากไฟไหม้ เป็นภาพที่สวยงาม ถ้ามองเป็นศิลปะ และมองต่างมุม ขณะที่ไฟกำลังไหม้หญ้าจะเกิดเสียงดัง โดยเฉพาะหญ้าที่สูงที่สุด นั้นก็คือต้นไผ่ เสียงจะดังเป็นระยะ สลับกับเสียงระเบิดของกิ่งไผ่ที่ถูกไฟไหม้ เหมือนเสียงดนตรี ที่กำลังขับกล่อมบรรเลง ในยามค่ำคืน ใบไม้แห้ง กิ่งไม้แห้ง หญ้าแห้ง ใบไผ่แห้ง จะถูกเผาจนกลายเป็น ขี้เถ้า และจะถูกลืมเมื่อเวลาผ่านไป


2 ม.ค. 2556

ดอกโสนบานเช้าจริงรึ…

alt=ดอกโสน

ดอกโสนจะบานตอนเช้าจริงหรือเปล่า? ผมมีโอกาสได้ลิ้มลองรสชาติอาหาร ทอดไข่เจียวใส่ดอกโสน สุดยอด มันเข้ากันได้ดีมาก อร่อยอย่าบอกใคร ต้นโสนที่ไร่ภูกาญจน์ จำนวนสองต้น เป็นชนิดดอกใหญ่ ซึ่งเมล็ดโสนอาจจะติดมากับกองดิน ที่ผมสั่งซื้อดินจากทุ่งนา เพื่อสำหรับปลูกผักไว้กิน เลยโชคดีได้ต้นโสน โดยที่ไม่ต้องลงมือปลูกด้วยตัวเอง ซื้อดินแถมต้นโสน…

โสน (อ่านว่า สะโหฺน) ชื่อตามท้องถิ่น โดยทั่วไปเรียก โสน ภาคเหนือเรียก ผักฮองแฮง เป็นพืชใน จีนัส Sesbania เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ใบประกอบแบบขนนก ดอกช่อ สีเหลือง รูปร่างแบบดอกแคหรือดอกถั่ว ในใบมีสารสีเหลืองกลุ่มแคโรทีนอยด์ ใช้แต่งสีเหลืองในขนมหลายชนิด เช่น ขนมดอกโสน ขนมขี้หนู ขนมบัวลอย โดยนำดอกโสนมาบดหรือโม่ผสมกับแป้ง นอกจากนั้น ดอกโสน เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา


ย่านาง…หลานหน่อไม้

หลายๆท่านที่ชอบทานแกงหน่อไม้ใส่ใบย่านาง หรือที่ชาวบ้านชาวช่องเรียกกันว่า แกงต้มเปอะ คนอีสานชอบทานกัน ใครไม่รู้จักส่วนประสมที่ใส่ลงไปในแกงหน่อไม้ ก็คงจะต้องมีการรื้อฟื้นความรู้กันครั้งใหญ่ ผมเองเติบโตมาจากบ้านนอก เป็นลูกอีสานขนานแท้ กินแกงต้มเปอะมาตั้งแต่เด็ก ได้เห็นคุณยายนำใบไม้มาตำ แล้วคั้นเอาน้ำสีเขียวๆ ใส่ลงไปในแกงหน่อไม้ แรกๆเรียกชื่อไม่ถูก ไม่รู้จักหน้าตา ทำไม่เป็นด้วย กว่าจะรู้ และแกงอาหารชนิดนี้เป็น ก็ต้องมาเป็นเกษตรกรผู้ปลูกไผ่เสียเอง…

ย่านาง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tiliacora triandra (Colebr.) Diels
ชื่อสามัญ : Bamboo grass
วงศ์ : Menispermaceae
ชื่ออื่น : จ้อยนาง (เชียงใหม่) เถาย่านาง เถาวัลย์เขียว (กลาง) ยาดนาง (สุราษฎร์ธานี)

ย่านาง เป็นไม้เถาเลื้อยพัน กิ่งอ่อนมีขนอ่อนปกคลุม เมื่อแก่แล้วผิวค่อนข้างเรียบ รากมีขนาดใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกติดกับลำต้นแบบสลับ รูปร่างใบคล้ายรูปไข่หรือรูปไข่ขอบขนานปลายใบเรียว ฐานใบมน ขนาดใบยาว 5 - 10 ซม. กว้าง 2 - 4 ซม. ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว 1 ซม. ดอกออกตามซอกโคนก้านใบเป็นช่องยาว 2 - 5 ซม. ช่อหนึ่ง ๆ มีดอกขนาดเล็กสีเหลือง 3 - 5 ดอก ดอกแยกเพศอยู่คนละต้นไม่มีกลีบดอก ผลรูปร่างกลมรีขนาดเล็ก สีเขียว เมื่อแก่กลายเป็นสีเหลืองอมแดงและกลายเป็นสีดำ
คุณประโยชน์ของใบย่านางนั้นอาจจะมีมากมาย แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ใบย่านางนั้นมีประโยชน์อย่างไร ผมเองก็เพิ่งจะรู้เมื่อไม่นานมานี้เอง และรู้โดยบังเอิญ ปัจจุบันก็เริ่มศึกษาและสนใจที่จะปลูก ให้เป็นมุมสมุนไพรที่สามารถเก็บใบย่านาง ไปประกอบอาหาร และทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรได้เลย เมื่อเราต้องการ

ย่านาง นับว่าเป็นพืชที่มีประโยชน์อีกชนิดหนึ่ง มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ใช้ในการประกอบอาหารพื้นบ้านไทยหลายๆ ตำรับ ในใบย่านาง มีวิตามินเอและซีสูง นอกจากนี้ยังประกอบด้วยสารอาหารสำคัญอื่นๆ เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ไฟเบอร์ แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ไทอะมีน ไรโบฟลาวิน และไนอะซีน