19 ก.ค. 2556

ระบบการให้น้ำต้นไม้…ที่ได้จากการเรียนรู้

ระบบให้น้ำ วันนี้เพื่อนบ้านมาหาตั้งแต่เช้า เสียงสุนัขที่เลี้ยงไว้หลายตัว พากันเห่าส่งเสียงดัง แสดง ว่ามีคนเข้ามาที่บริเวณบ้าน ผมแอบมองทางด้านหน้าต่าง ตามที่เสียงสุนัข เห่าต้อนรับ
“สวัสดีพี่ทอน มาตั้งแต่เช้าเชียว”
ผมทักทายด้วยความคุ้นเคย
“เอาต้นอ้อย มาให้”
เสียงของพี่ทอน ตอบกลับ พร้อมกับยื่นต้นอ้อย มาให้ผม
“ขอบคุณครับ แล้วพี่ทอน ยังไม่ปล่อยวัวอีกเหรอ ขี้วัวแห้งหรือยัง”
ผมขอขี้วัว แกไว้ตั้งนานแล้ว ตั้งแต่หน้าฝน กะว่าจะนำมาหมักทำปุ๋ยชีวภาพ เพื่อลดต้นทุนในการซื้อปุ๋ย
“แห้งแล้ว พี่ไม่มีเวลา เอาขี้วัวใส่ถุง มาให้เลย”
“ไม่เป็นไรครับ ว่างเมื่อไหร่ ผมจะไปเอาเอง”
“แวะเข้าไปเอาขี้วัวได้เลยนะ”
ผมกับพี่ทอน ใช้เวลาคุยกันไม่นานนัก เพราะว่าพี่แก ต้องไปปล่อยวัว ให้ไปกินหญ้า หลังจากที่ พี่ทอน กลับไปแล้ว ผมก็ดำเนินการตัดแต่งต้นอ้อย พร้อมกับเตรียมจอม สำหรับขุดดิน ผมเลือกเอาบริเวณใกล้ๆโอ่งน้ำ ใกล้มือหน่อย จะได้ไม่ลืมให้น้ำทุกวัน

พูดถึงเรื่องการทำระบบให้น้ำต้นไม้ที่เราปลูก วันนี้ผมตั้งใจว่าจะไปปรับระบบการให้น้ำต้นมะกรูดสักหน่อย เมื่อหลายเดือนก่อน ผมติดตั้งระบบการให้น้ำต้นมะกรูด ที่สูบน้ำขึ้นมาโดยตรง จากบ่อบาดาล ด้วยความที่เราไม่มีความรู้ความเข้าใจ ของการนำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ โดยไม่ผ่านการพักน้ำไว้ก่อน ผลที่ตามมา เกิดตะกอนหินปูนที่ท่อรองประธาน และที่หัวมินิสปริงเกลอร์ ทำให้ตะกอนหินปูนอุดตันบ่อย แต่ที่ร้ายแรงกว่านั้น น้ำที่มีส่วนผสมของหินปูน มันจะไปเกาะที่ใบ ลำต้นของต้นไม้ ทำให้ต้นไม้นั้น เจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร การเจริญเติบโตของต้นไม้อาจจะหยุดชะงัก

ผมต้องเปลี่ยนระบบการให้น้ำ แก่ต้นไม้ใหม่ โดยวิธีการสูบน้ำจากบ่อบาดาล ขึ้นมาเก็บไว้ที่ถังพักน้ำไว้ก่อน  ถังพักน้ำที่ทำด้วยวงซีเมนต์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.50 เมตร จำนวน 9 ชั้น จำนวน 2 ถัง พร้อมกับแก้ไขระบบท่อน้ำใหม่ จากนั้นก็ได้ทดลองการปล่อยน้ำ เพื่อทดสอบ แรงดันของน้ำปรากฏว่า แรงดันของน้ำ น้อยกว่าระบบการให้น้ำที่สูบจากบ่อบาดาล แล้วปล่อยน้ำให้ต้นไม้โดยตรง


จากการที่ แรงดันของน้ำ ลดน้อยลงนี้ ผลทำให้ระบบการให้น้ำที่ใช้หัวมินิสปริงเกลอร์ ที่เจาะห่างจากต้นมะกรูด เกิดปัญหาทันที รัศมีของน้ำไม่สามารถไปถึง ต้นมะกรูดได้

ด้วยความที่เราวางแผนการให้ระบบน้ำ ที่ผิดพลาดตั้งแต่แรกเริ่ม ศึกษาไม่ละเอียด ถึงปัจจัยต่างๆที่อาจเกิดขึ้น เรียกว่าเป็นการเรียนรู้ที่แพงจริงๆๆ

หนึ่ง ไม่มีความรู้ความเข้าใจ ถึงส่วนประกอบของน้ำใต้ดิน และก็ไม่ได้นำน้ำไปตรวจเสียก่อน

สอง ไม่ศึกษาพื้นที่ ที่จะปลูกต้นไม้นั้น มีวัชพืชมากหรือเปล่า และเลือกการให้น้ำที่ใช้มินิสปริงเกลอร์ นั้นมีข้อดี ก็คือ น้ำจะกระจายไปรอบๆๆต้นไม้เป็นรัศมีประมาณ 1เมตร แต่ผลเสียที่เกิดขึ้น น้ำที่ให้ไปนั้น ไปทำให้วัชพืช เจริญเติบโตแข่งกับต้นไม้ที่เราปลูก และยังทำให้สิ้นเปลืองน้ำอีกด้วย

สาม ระบบให้น้ำที่เหมาะสมกับพื้นที่ ที่มีวัชพืชขึ้นบริเวณรอบๆๆ นั้นน่าจะเป็นระบบน้ำหยด หรืออาจจะต่อท่อไมโคร เพื่อใช้เป็นท่อจ่ายหัวมินิสปริงเกลอร์หรือหัวน้ำหยด ในกรณีท่อรองประธานอยู่ไกลจากต้นไม้ และข้อดีอีกประการ ก็คือ ประหยัดน้ำ

ถึงตอนนี้ ผมก็ได้ปรับเปลี่ยนระบบการให้น้ำกับต้นไม้เป็นบางส่วนแล้ว เช่น ต้นไผ่ ใช้ระบบน้ำหยด ผสมกับระบบต่อท่อไมโคร(อนาคตปรับเป็นสปริงเกลอร์ 1 หัวต่อกอ) ต้นมะกรูด ใช้ระบบต่อท่อไมโคร

ปัญหาสุดท้าย ที่ไม่ควรมองข้าม นั้นก็คือ การวางสายท่อรองประธาน เมื่อต่อเข้ากับท่อประธานแล้ว ควรจะปล่อยให้น้ำไหลผ่านไปสักระยะหนึ่ง เพื่อให้ท่อรองประธานนั้นไม่หมุนกลับ หรือหดกลับ เพื่อป้องกันในกรณีเราเจาะรู สำหรับใส่หัวมินิสปริงเกลอร์ หรือหัวน้ำหยด แล้วตำแหน่งของรู นั้นไม่ย้ายตำแหน่งหรือเคลื่อนที่เปลี่ยนไปจากเดิม

ดังนั้นระบบการให้น้ำแก่ต้นไม้ที่เราปลูก จึงมีความสำคัญมากๆ ที่เราไม่ควรมองข้าม ดินดี ต้นพันธุ์ดี ปุ๋ยดี แต่ถ้าระบบการให้น้ำไม่ดี ผลผลิตอาจจะไม่ดี นั้นก็หมายถึงรายรับที่จะได้รับ ย่อมไม่ดีไปด้วย

1 ความคิดเห็น:

ืnana nuee กล่าวว่า...

ขอคำแนะนำหน่อยคะ คือบ้านอยู่ชัยนาทแล้วอยากจะปลูต้นมะกรูดเพื่อขายใบและลูก ดินเป็นดินร่วนปนทรายคะ แต่ที่ๆจะปลูกห่างจากเขื่อนเก็บน้ำประมา 3-4กิโลเมตรเลยคะ แล้วจะมีวิธีอะไรหรือเปล่าคะที่จะนำน้ำมาใช้รดต้นมะกรูดได้คะ แล้วมีที่แนะนำให้ไปศึกษาหรือเปล่าคะ (mail:punyo154@Gmail.com) คอบคุณคะ มือใหม่ไม่มีความรู้คะ

แสดงความคิดเห็น