30 ส.ค. 2556

วัชพืช…พืชผู้สร้างโลก

alt=วัชพืชแห้งตาย ในที่สุดเจ้าวัชพืชก็สร้างปัญหาให้กับเกษตรกรจนได้ ถึงแม้จะเป็นปัญหาโดยทางอ้อม แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ ว่ามันเชื่อมโยงกัน เมื่อเกษตรใช้ยาเคมีเพื่อกำจัดวัชพืชในพื้นที่เกษตร ที่ปลูกพืชชนิดหนึ่ง อาจจะส่งผลต่อพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเรามักจะได้ยินเรื่องร้องทุกข์อะไรในทำนองนี้บ่อยๆ อย่างเช่นเมื่อเร็วๆนี้ ข่าวหน้าหนึ่ง ฉีดยาฆ่าหญ้าในไร่อ้อย แล้วน้ำในไร่อ้อยไหลมาลงในนาข้าว ทำให้ข้าวเน่าตาย…เรื่องมันเศร้า

เมื่อพูดถึงคำว่า “วัชพืช” เกษตรกรอย่างเราๆรู้จักกันดี ซึ่งเจ้าวัชพืชนี้ ถ้าเรามองในด้านบวก วัชพืชก็จะมีประโยชน์ไม่น้อย และในขณะเดียวกัน ถ้าเรามองในด้านลบ ก็จะพบว่าเจ้าวัชพืชนี้ ก็สร้างปัญหาให้กับเกษตรอย่างใหญ่หลวง อาจจะเป็นตัวชี้อนาคตความรวยความจนได้เลย ดังนั้นถ้าเราจะให้ความหมายของวัชพืชแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือพืชอะไรก็ได้ที่ขึ้นผิดที่ผิดทางในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงเวลาหนึ่ง แล้วเจ้าวัชพืช อาจจะทำให้เกิดความเสียหายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แก่เกษตรกรเจ้าของพื้นที่เกษตรกรรมนั้น


เราสามารถจำแนกวัชพืชออกเป็นชนิดต่างๆ โดยอาศัยความแตกต่างในแง่ วงจรชีวิต ลักษณะทางสัณฐานวิทยา ลักษณะทางนิเวศวิทยา ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ลักษณะทางสรีรวิทยา โดยพืชที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันจะมีความคล้ายคลึงกันมากกว่าความแตกต่างกัน แต่ในที่นี้จะขอพูดถึงวัชพืชที่จำแนกตามสันฐานวิทยา ที่เป็นปัญหาในระบบพืชไร่ โดยเฉพาะการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ก.ใบแคบ ( narrowleaf weeds )หมายถึง วัชพืชพวกหญ้า (grasses) ในตระกูล Gramineae (Poaceae) และกก (sedges) ในตระกูล Cyperaceae หรือวัชพืชในตระกูลอื่นๆ ซึ่งมีแผ่นใบบาง แคบ เรียว ยาว และเส้นใบขนานกับเส้นกลางใบ เช่น หญ้าข้าวนก ( Echinochloa crus-galli ),หญ้าตีนกา ( Eleusuine indica )

ข.ใบกว้าง ( broadleaf weeds )หมายถึง วัชพืชในตระกูลอื่นๆ ทั้งพวกใบเลี้ยงเดี่ยวและใบเลี้ยงคู่ สังเกตจากใบเมื่อแผ่เต็มที่จะกว้าง และมีเส้นใบแบบร่างแห เช่น ผักโขมหนาม ( Amaranthus spinosus ) ขาเขียด ( Monochoria vaginlis )

จากวัชพืชดังกล่าวข้างต้น ด้วยความคุ้นเคยของเกษตรกร เมื่อเวลาที่จะไปซื้อยากำจัดวัชพืช ร้านขายยามักจะถามว่านำไปฉีดในไร่ที่ปลูกอะไร ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง หรือปลูกข้าวโพดเลี้ยง ฯลฯ

เมื่อหลายวันที่ผ่านมา ผมได้เตรียมพื้นที่สำหรับวางต้นกิ่งพันธุ์ไผ่ตงลืมแล้ง โดยเลือกเอาพื้นที่ใกล้ๆ กับต้นฝรั่งกิมจู พื้นที่ตรงบริเวณนี้ปลูกต้นถั่วพูไว้จำนวนหลายสิบต้น ที่ผ่านมา ดูแลไม่ทั่วถึง เลยทำให้ต้นหญ้าขึ้นแซงต้นถั่วพู แต่ต้นถั่วพูก็ยังไม่ยอมแพ้ ยังออกดอกออกฝักให้กินพอสมควร ทั้งที่ไม่ได้ทำค้างให้ขึ้น…ความพยายามสูง

ปกติกิ่งพันธุ์ไผ่ตงลืมแล้ง ผมจะจัดวางไว้บริเวณพื้นที่ใกล้ๆหน้าบ้าน ซึ่งเป็นกิ่งพันธุ์ไผ่ที่กำลังรอส่งให้ลูกค้า แต่คราวนี้จำเป็นต้องเปลี่ยนสถานที่ เพราะว่าเจ้าลูกสุนัข จำนวนหลายๆตัว มันแสนซน พากันเล่น กัดบ้างเหยียบบ้าง จนทำให้กิ่งพันธุ์ไผ่ที่กำลังออกราก แตกยอดแตกใบ ได้รับความเสียหาย เลยต้องเปลี่ยนพื้นที่…ไม่งั้นตายหมด อดได้ตังค์

ด้วยความที่ขี้เกียจตัดหญ้า และไม่ชอบฉีดยาฆ่าหญ้า ก็เลยใช้พลาสติกหนาๆวางทับหญ้าเอาเสียเลย รวดเร็วดี …ไม่น่าเชื่อ เมื่อเวลาผ่านไปหลายวัน ลองเปิดดูหญ้าที่อยู่ใต้พลาสติก ปรากฏว่า หญ้าเริ่มเหี่ยวแห้ง เปลี่ยนสีไปอย่างชัดเจน ขณะที่หญ้าที่อยู่รอบๆที่ไม่ได้ถูกคลุมด้วยพลาสติก ใบและลำต้นยังเขียวสดใสอยู่เลย

ความจริงมันเป็นหลักการง่ายๆ ในการที่จะไม่ให้พืช วัชพืช หรือต้นไม้ที่เราไม่ต้องการ เจริญเติบโต เพียงแค่เรานำวัสดุมาปิดบัง ไม่ให้พืชหรือวัชพืช ให้ได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ เมื่อนานวันเข้า พืชหรือวัชพืช ก็จะตอมใจตายเอง ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยไปเองตามธรรมชาติ วิธีการแบบนี้ถูกนำมาใช้ในการบ่มดิน เพื่อสร้างดินให้มีคุณภาพมากขึ้น

แต่ที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ คือการนำวิธีการข้างต้นมาผลิตสารเคมี เพื่อนำมาใช้สำหรับกำจัดวัชพืช วัชพืชใบกว้างใช้ยาตัวหนึ่ง วัชพืชใบแคบก็ใช้ยาอีกตัวหนึ่ง จึงไม่น่าแปลกใจ สารเคมีที่วางขายในท้องตลาดจึงมีจำนวนมากมายหลายชนิด อยากฉีดในไร่อ้อยต้องตัวนี้ อยากฉีดในไร่ข้าวโพดก็ต้องตัวนั้น และด้วยความเชื่อของเกษตรกรมักจะนำยาหลายๆตัวหลายๆขวดมาผสมรวมกัน แล้วนำไปฉีดจะทำให้ได้ผลดี อยากฉีดในไร่มันสำปะหลังเอาสองตัวมาบวกกันเลย…แรงดี วัชพืชตายก่อน คนฉีดยาเดี๋ยวตามไป…ฮ่าๆๆๆๆ

ถ้าลองสังเกตดูหญ้าที่อยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมและหญ้าที่อยู่บริเวณริมถนน ถ้ามีลักษณะแห้งเป็นแถบๆ แสดงว่าได้มีการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดหญ้าที่ชาวบ้านเรียก หรือวัชพืชที่นักวิชาการทั้งหลายใช้สื่อความหมาย ถ้าได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างที่อ้างสรรพคุณ ปานนี้โลกใบนี้คงจะไม่มีสิ่งที่มีชีวิตที่เรียกว่า วัชพืช อย่างแน่นอน

อย่าลืม การที่เรานำมาใช้นอกสถานที่ ที่ไม่สามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ ไม่ว่าจะเป็น ลม ฝน แสงแดด หรือแม้อัตราส่วนของยาที่ผสมกับน้ำ ถ้าผิดอัตราส่วน มีลมแรงๆพัดผ่าน มีแสงแดดมากไปหรือน้อยไป หรือแม้กระทั้งฉีดยาอยู่ดีๆ มีฝนตกลงมา เพราะเหตุการณ์เหล่านี้มักจะไม่เกิดในห้องทดลองแน่ๆ

เรามาเปลี่ยนวิธีคิดกันดีกว่าไหม เพื่อสุขภาพของตัวเราเอง เพื่อสุขภาพของพื้นดิน เพื่อสุขภาพของจุลินทรีย์ เพื่อสุขภาพของสัตว์และแมลง และเพื่อสุขภาพของโลกที่เราอาศัยอยู่ ทำการเกษตรที่ไม่เน้นเพื่อการค้า การกำจัดหญ้าหรือวัชพืชโดยใช้วิธีการทางชีวภาพให้มากขึ้น การกำจัดหญ้าหรือวัชพืชโดยใช้สารเคมี ให้น้อยที่สุดหรือไม่ใช้เลย อย่างน้อยตัวเราเองก็รู้ว่า การที่มีสุขภาพที่ดี ย่อมจะดีกว่าการมีเงินทองมากมายในขณะ ที่ร่างกายแย่ลงทุกวัน…จริงไหม

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น