8 พ.ค. 2556

การปลูกผักหวานป่าในรอบปีที่ผ่านมา ตอนที่ 2

alt=สวนผักหวานป่า
ตั้งใจว่าจะเขียนบทสรุปของการปลูกผักหวานป่าในรอบปีที่ผ่านมา ให้เสร็จแต่มีอันต้องล่าช้า เพราะว่าต้องไปจัดเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกพริก เอากับเขาบ้าง อยากจะลองปลูกพริกดู และตั้งใจจะปลูกพริกอินทรีย์ให้ปลอดจากสารพิษ ไม่รู้จะทำได้ดีแค่ไหน วันหน้าจะนำมาเขียนบทสรุปให้อ่านกัน

จากบทความการปลูกผักหวานป่าในรอบปีที่ผ่านมา ตอนที่ 1 กะว่าจะนำข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการเรียนรู้ภาคสนาม ที่ได้จดบันทึก เพื่อสำหรับไว้ศึกษา ในการที่จะปลูกผกหวานป่าในรุ่นต่อๆไป มีหลายเรื่องที่ไม่สามารถหาอ่านได้ แม้กระทั้งเรื่องเล็กๆน้อยๆ ที่หลายคนมองข้ามไป รวมถึงข้อห้าม(ส่วนตัว) ที่ได้พบเจอ

แปลงที่ปลูกผักหวานป่า เป็นพื้นที่เคยปลูกไผ่เลี้ยงหวานมาก่อน มีเนื้อที่กว้างประมาณ 14 เมตร ยาวประมาณ 40 เมตร ด้านซ้ายติดแปลงปลูกไม้ยูคา ด้านขวาติดสวนไผ่กิมซุ่ง(ตงลืมแล้ง) ระยะของการปลูกผักหวานป่าใช้แบบระยะประชิดคือ แถวกว้าง 2เมตร ระหว่างต้น 1.5 เมตร ซึ่งปลูกทั้งสิ้นจำนวน 7 แถว จำนวน 115 หลุม ปลูกหลุมละ 2 ต้น

ครั้งนี้ถือว่าเป็นการปลูกผักหวานป่าโครงการที่ 2 ซึ่งปลูกโดยนำเมล็ดมาเพาะแล้วใส่เมล็ดที่พร้อมจะงอกจำนวน 2 เมล็ดต่อหนึ่งถุงเพาะ หยอดเมล็ดแคแดง 1 เมล็ด และรอจนยอดผักหวานป่าแทงขึ้นมา ถึงเริ่มลงมือปลูกเมล็ดผักหวานป่าในหลุมดินที่เตรียมไว้ลง


ในระหว่างที่นำเมล็ดผักหวานป่าที่เพาะในถุง ลงปลูกในหลุมดินที่เตรียมไว้นั้น ต้นแคแดงที่ปลูกสำหรับให้เป็นไม้พี่เลี้ยงบางต้นเหี่ยว ใบร่วง และมีตายไปหลายต้น เลยต้องเพาะกล้าต้นแคแดงขึ้นมาใหม่ แรกๆไม่เอะใจว่าทำไมต้นแคแดงถึงตาย น้ำก็รด แต่กลับเหี่ยวเฉาตาย จนวันหนึ่งต้องเอาต้นแคแดงในถุงเพาะมานั่งดู ถึงได้บางอ้อ มีหนอนผีเสื้อตัวเล็กๆ มารุมกินใบ กินยอดของต้นแคแดง จนต้นของแคแดงเหี่ยวเฉาและตายนี้เอง

ในการปลูกต้นผักหวานป่าที่อยู่ในถุงเพาะจะต้องระวังให้มากๆ เมื่อยอดของผักหวานป่าเริ่มแทงยอดขึ้นให้เห็น ต้องรีบนำไปปลูกทันที เพราะช่วงเวลานี้รากของผักหวานป่ายังยาวไม่มากและรากยังไม่พันกัน เมื่อปลูกไปแล้วต้นผักหวานป่าจะไม่ชะงัก และวิธีการแกะถุงเพาะออกก็จะต้องทำอย่างระมัดระวัง เริ่มแรกโดยใช้มีดกรีดรอบๆถุงประมาณ 1 ใน 3 และกรีดตัดขวางลงมาใกล้ๆมุมถุง เพื่อที่จะได้แกะง่ายๆ โดยเฉพาะมุมถุง รากของผักหวานป่ามักจะยื่นเข้าไปอยู่

การปลูกผักหวานป่าโครงการที่ 2 เกิดข้อผิดพลาดขึ้น ในระหว่างการแกะถุงเพาะ จนทำให้รากแก้วของผักหวานป่าขาดจำนวน 5ถุง แต่ก็ยังปลูกตามปกติ ปัจจุบันนี้ต้นผักหวานป่า เจริญเติบโตได้ดี ไม่ตายอย่างที่เข้าใจกัน ว่าเมื่อรากขาดอาจจะทำให้ปลูกต้นผักหวานป่าแล้วไม่ยอมเจริญเติบโต หรือไม่ก็จะตายก่อนเวลาอันควร

ผักหวานป่าน่าจะชอบน้ำนะ ต่างจากเกษตรกรทั่วไปที่ให้น้ำ อาทิตย์ละครั้ง ผมว่านานไป ที่ไร่การให้นำเริ่มตั้งแต่ปลูกใหม่ๆ โดยวิธีการตักน้ำรด ก่อนจะปรับมาเป็นการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ ผสมกับการให้น้ำแบบระบบน้ำหยด พร้อมกับผสมปุ๋ยไปด้วย โดยให้ปุ๋ยน้ำทุกๆ 3 วัน ปุ๋ยทำขึ้นเองโดยใช้ผลไม้สามอย่าง อย่างแรก มะละกอ อย่างที่สอง ฟักทอง อย่างที่สาม กล้วยน้ำว้า จริงๆคนทั่วไปเขาเรียกว่า ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต ซึ่งได้ผลดี ผักหวานป่าน่าจะชอบ และชอบจริงๆด้วย…วันนี้ผมเตรียมปรับพื้นที่สำหรับปลูกผักหวานป่า โครงการที่ 3 โดยสั่งซื้อเมล็ดผักหวานป่า จากเวปเกษตรนี้แหละ ฉบับหน้าจะนำสถิติข้อมูลการเจริญเติบโตของต้นผักหวานป่า มาให้ศึกษากัน…การปลูกผักหวานป่าในรอบปีที่ผ่านมา ตอนที่ 3

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น