14 ก.ย. 2556

ผลของตะคล้อ….ในวันนี้


alt=ตะคล้อ13ลูก สองสามวันมานี้ฝนตกติดต่อกัน หนักบ้างเบาบ้าง ตกเวลากลางคืนก็ดีหน่อยอากาศเย็นสบายนอนหลับฝันดี ถ้าตกเวลากลางวันก็แย่หน่อย ผมได้แต่นั่งมองดูสายฝนผ่านหน้าต่าง มองเห็นยอดอ้อย ยอดข้าวโพด ยอดมันสำปะหลัง อยู่ไหวๆ งานเกษตรภาคพื้นสนามที่วางแผนไว้ก็ต้องหยุดนิ่ง บางวันมีลมและฝนมาแบบแปลกๆ ที่ว่าแปลกก็คือมีลมพร้อมสายฝนมาทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปกติจะมีลมและฝนมาด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ อาจจะส่งสัญญาณ ปลายฝนต้นหนาวก็เป็นได้

ถ้าฤดูหนาวมาเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา ภาคเกษตรกรรมจะมีปัญหาแน่ๆ เมื่อสองอาทิตย์ก่อน ผมได้ไปเดินดูระดับน้ำที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ น่าตกใจ! ระดับน้ำภายในเขื่อนต่ำกว่าทุกปีที่ผ่านมา มองเห็นพื้นดินโพล่ขึ้นมาหลายๆจุด คำถาม?…เกษตรกรอย่างเราๆเตรียมตัวหรือวางแผนกันไว้หรือยัง เมื่อหมดฤดูฝนแล้ว ภาคเกษตรกรรมที่ต้องอาศัยน้ำจากเขื่อน เดือดร้อนแน่ ปีนี้เจอปัญหาภัยแล้ง ฟันธง!



ทุกๆปีในช่วงของเดือนมิถุนายน ถึง เดือนสิงหาคม ผมจะมักเดินดูผลของตะคล้อ ที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ไร่แห่งนี้ ซึ่งมีต้นตะคล้อที่ให้ดอกให้ผลจำนวน 3 ต้น ต้นแรกอยู่ที่บริเวณข้างครัว ต้นที่สองอยู่ที่บริเวณโรงจอดรถ และต้นที่สามอยู่บริเวณทางเดินเข้าสวน นอกนั้นเป็นต้นเล็กๆ อยู่หลายสิบต้น คิดว่าคงจะไม่มีโอกาสได้เจริญเติบโตแน่ เพราะว่าผมจะเคลียร์พื้นที่สำหรับปลูกผักหวานป่าโครงการที่ 3 พื้นที่บริเวณนี้มีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ถ้าปลูกผักหวานป่าเต็มพื้นก็จะได้ราว 100 กว่าต้น

สมัยที่เรียนระดับประถมศึกษา พาฝูงควายไปเลี้ยงตามพื้นที่โคกดอน มักจะเจอต้นตะคล้อขึ้นเองตามธรรมชาติ อยู่มากมาย ความคิดในวัยนั้น นึกว่าเป็นต้นไม้ที่ชอบขึ้นในเขตพื้นที่สูงและแห้งแล้งโดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน ภาคกลางไม่เคยเจอเลย ตั้งแต่เรียนจบระดับประถมศึกษา จนได้มีโอกาสเปลี่ยนเส้นทางชีวิตจากคนที่ทำงานในระบบราชการ มาเป็นส่วนหนึ่งของคนในภาคเกษตรกรรม

ต้นตะคล้อแม้ถึงจะมีลำต้นขนาดเล็กๆ สูงไม่ถึง 50 เซนติเมตร มีระบบลำต้นและรากที่ยาวมาก หลายครั้งหลายครา พยายามขุดต้นตะคล้อแต่ไม่ประสบความสำเร็จสักที ทำให้นึกถึงการรณรงค์ให้ปลูกป่าในพื้นที่ถูกทำลายโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจของมนุษย์ นั้น หลายครั้งที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่ามีแต่โครงการปลูกป่า ไม่มีโครงการติดตามผลของการปลูกป่า เมื่อถึงเวลา 1 ปีผ่านมาก็จะมีโครงการปลูกป่าอีกในพื้นที่เดิมอีก ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

แม้แต่การเลือกชนิดของต้นไม้ที่จะนำไปปลูกก็ไม่สอดคล้องกับแหล่งที่จะนำไปปลูก ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง หรือป่าดิบเขา จะต้องเป็นกล้าไม้ หรือพรรณไม้คนละอย่างกัน ซึ่งต้น “ตะคร้อ” เป็นไม้ป่าชนิดหนึ่งที่พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณทุกภาคของประเทศไทย เหมาะจะ ใช้ เป็นกล้าไม้หรือพรรณไม้ปลูกฟื้นฟูธรรมชาติได้ดีตามป่าเชิง เขาทั่วไป เมื่อต้น “ตะคร้อ” เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว รากของต้นตะคล้อจะช่วยรักษาหน้าดิน และอุ้มน้ำป้องกันไม่ให้ดินเชิงเขาสไลด์ตัว หรือน้ำไหลถล่มลงมาได้ เรามาทำความรู้จักกับต้นไม้ชนิดนี้กัน

ตะคร้อ Schleichera oleosa (Lour.) Oken ชื่อวิทยาศาสตร์ :Schleichera oleosa (Lour.) Okenชื่อวงศ์ : Sapindaceae
ต้นตะคร้อ ชื่อพื้นเมือง : ตะคร้อ (ตะวันออกเฉียงเหนือ) ; ตะคร้อไข่ (กลาง) ; ค้อ (กาญจนบุรี) ; คอส้ม (เลย) เคาะ (พิษณุโลกนครพนม) ; มะเคาะ , มะจ้อ.ชื่อท้องถิ่น : กอซ้อ กาซ้อง ค้อ คอส้ม เคาะ เป็นต้น

แหล่งที่พบ : ตะคร้อมีเขตกระจายพันธุ์ ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของไทย ต่างประเทศพบที่ศรีลังกา อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน และอินโดนีเซีย

ลักษณะทั่วไป: ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15-25 เมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 4-8 ใบ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ใบดกและหนาแน่นมาก ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อดอกห้อยลง ดอกย่อยสีเหลืองแกมเขียว ไม่มีกลีบผลัดใบ เรือนยอดทรงรูปไข่ทึบ แตกกิ่งลำต้นสั้นมักเป็นปุ่มปมและ พูพอน เปลือกสีนำตาลเทา

ดอกของตะคล้อจะมีลักษณะสีขาวอมเขียว ออกเป็นช่อแยกแขนงตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอก ออก มีนาคม – เมษายน และผลของตะคล้อเป็นผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดี่ยว ทรงไข่แกมขอบ และโคนผลเปลือกเรียบและเกลี้ยน ผลสุกสีนำตาล เนื้อสีเหลือง เมล็ดรูปไข่ ผลจะออกตั้งแต่เดือน มิถุนายน –เดือน สิงหาคม

การขยายพันธุ์ของต้นตะคล้อที่พบโดยทั่วไปตามธรรมชาติมักจะต้องมีตัวช่วยในการที่จะทำให้มีต้นตะคล้อไม่สูญพันธุ์จากโลกใบเล็กๆใบนี้ โดยอาศัยสัตว์จำพวกนก กระรอก เป็นผู้เพาะกล้า ส่วนการตอนกิ่งยังไม่แพร่หลาย หรือพบได้น้อยมาก

ประโยชน์ของต้นตะคล้อ สามารถใช้ทำเสาเรือนได้ไม่แพ้ต้นพยุง ใช้เลี้ยงครั่ง ลำต้นเนื้อแน่นเหนียวเหมาะสำหรับทำสากตำข้าวและด้ามเครื่องมือต่างๆ ใช้เปลือกมาทำสมุนไพรแก้ท้องร่วง นำเมล็ดมาสกัดเอาน้ำมันทำยาแก้ผมร่วงและยังทำน้ำมันจุดไฟในตะเกียง คนสมัยก่อนยังนำเปลือกมาใช้ย้อมผ้า ,ทำผลิตภัณฑ์ล้างจาน ล้างห้องน้ำ,ผลทำอาหารหวานได้หลายชนิด เช่น แยม,ตะคร้อแก้ว,ลูกกวาดตะคร้อ,น้ำตะคร้อ,ไวน์ เป็นต้น

ด้านอาหาร เปลือกต้นขูด เอาเนื้อเปลือกตำใส่มดแดง(เปลือกนางกินกับตำเหมี่ยงโค่น กินกับใบส้มกบ,ส้มลม ตำใส่เครื่องข่าตะไคร้ พริก) นำมารับประทานจิ้มเกลือหรือนำมาซั่ว ลูกที่หวานมากนำมากินกับข้าวได้ เปลือกผลส่วนก้นนำตำใส่เปลือก ผสมกับเนื้อ
ด้านยา
· เมล็ดกินได้ แต่อย่าเกิน 3 เม็ด เพราะจะเมา นำมาสกัดน้ำมัน
· เปลือกใช้เปลือกนอก ขูดผสมเกลือ เป็นยารักษาสัตว์
· เปลือกต้นแก้บิด,ท้องร่วง,มูกเลือด วิธีการ นำมาตำกิน รักษา บาดแผลสด จากของมีคม วิธีการนำเปลือกบริเวณลำต้นที่วัดความสูงตาม บาดแผลที่เกิด ขูดเปลือกค้อ นำมาผสมกับยาดำ(เส้นผม,ขนเพชร) แล้วนำมาพอกแผล
· ใบ แก้ไข้โดย ขยี้ใบแก่กับน้ำนำมาเช็ดตัวห้ามเลือด ใช้ใบแก่เคี้ยวให้ละเอียดใส่แผลสด ปิดปากแผลไว้
· เนื้อผลเป็นยาระบาย
· รากใช้ถอนพิษ เช่น อยากหยุดเหล้า นำน้ำต้มรากมาผสมเหล้า และกินตอนเมา จะทำให้ไม่อยากกินอีกปริมาณการใช้ราก 1 กำมือผู้กิน เหล้า 1 ก๊ง
ข้อแนะนำ : ตะคร้อผลสีส้มเปรี้ยวอมหวาน ยำผสมพริกน้ำปลารสเด็ดเผ็ดจัดจ้าน แต่ห้ามรับประทานมาก เพราะเป็นยาระบาย

ข้อมูลอื่นๆ : ผลตะคร้อมีกรดอินทรีย์สูงและมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สารสกัดจากเปลือกและลำต้นของต้นตะคร้อพบว่าสามารถลดการเกิดอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุของการตายของเซลล์มะเร็ง , มีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเชื้อราและแบคทีเรีย , และการใช้นํ้ามันสกัด (Kusum oil or Macassar oil) จากเมล็ดตะคร้อ รักษาอาการคัน สิว แผลไหม้ เป็นนํ้ามันสำหรับนวดแก้การปวดไขข้อ , และยังพบว่า น้ำต้มเปลือกของต้นตะคร้อยังรักษาอาการปวดประจำเดือนอีกด้วย

ปีนี้ต้นตะคล้อที่ไร่ ไม่ยอมออกดอก ซึ่งปกติแล้วในช่วงเดือนมีนาคม-เดือนเมษายน ของทุกปี ต้นตะคล้อจะออกดอกทั้งสามต้น และติดผลให้ลิ้มลองรสชาติไม่ต่ำกว่า 50 ลูก นอกนั้นทั้งนก และกระรอกแอบมากินผลตะคล้อทุกวัน แย่งไม่ทัน สำหรับปีนี้มีผลตะคล้อที่พยามยามค้นหาอยู่หลายวัน พบโดยบังเอิญจำนวนหนึ่งพวง นับผลได้ 13 ลูก หมายตาไว้แล้วว่าจะนำเมล็ดไปทดลองขยายพันธุ์ ฝูงนก และฝูงกระรอกจะไม่แอบมากินหมดเสียก่อน และหวังปีหน้าฟ้าใหม่สภาพอากาศ สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมจะทำให้ ต้นตะคล้อทั้งสามต้น ออกดอกออกผลให้มากกว่าปีนี้นะ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น