20 ก.ย. 2556

ใบอ่อนของมะม่วงเหลือแต่โคนใบ

ด้วงงวงกัดใบมะม่วง ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานทำบุญฯแถบชานเมืองใกล้ๆกรุงเทพฯ ขณะที่กำลังกินข้าวเช้า สายตาก็หันไปมองต้นมะม่วงที่กำลังแตกใบอ่อนทั้งต้น ใบอ่อนยังสมบูรณ์เต็มใบทุกยอด ดูแล้วสวยงามยิ่งนัก ผิดกับต้นมะม่วงที่ไร่ออกยอดออกใบอ่อนที่ไร ใบร่วงทุกที

สงสัยเหมือนกันว่าทำไมต้นไม้ หรือผลไม้ที่ปลูกในเมือง ถึงได้เจริญเติบโตโดยไร้แมลงหรือศัตรูพืชเข้ารบกวน สิ่งเคยเห็นไม่ใช่แต่ยอดมะม่วงเท่านั้น ใบมะกรูดก็งามสมบูรณ์ไม่มีร่องรอยของหนอนผีเสื้อ ที่เข้ากัดกินใบและไม่มีโรคแคงเกอร์เข้าทำลาย กิ่ง ใบและสำต้นด้วย

ต่างกันกับในเขตพื้นที่ชนบท เกษตรกรที่ปลูกพืชผลที่มุ่งเน้นเพื่อการค้ามักจะใช้วิธีการการแก้ปัญหาเมื่อมีโรคหรือแมลงเข้ามาทำลาย นั้นก็คือการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดโรคพืชและแมลง ซึ่งน้อยมากที่จะใช้วิธีการป้องกันด้วยสมุนไพรและวิธีทางธรรมชาติ ถึงมีอาจจะไม่ได้ผล เพราะอะไรหรือ


ในวิธีทางธรรมชาตินั้นจะมีแมลงดีมีประโยชน์และแมลงร้ายที่เป็นศัตรูพืชอยู่คู่กันไป ตัวอย่างง่ายๆ ต้นแคที่ปลูกไว้สำหรับเป็นไม้พี่เลี้ยงผักหวานป่า ตั้งแต่โครงการแรกนั้นจะมีหนอนผีเสื้อขนาดเล็กๆที่ชอบกินใบ ยอด ของต้นแค จำนวนถึง 2-3 ตัวเป็นอย่างน้อย และสามปีผ่านมา หลังจากเลิกใช้กับสารเคมีทุกชนิด พบว่าหนอนผีเสื้อบนต้นแค จำนวนลดน้อยลง แถมยังมีสิ่งมีชีวิตที่มาอาศัยใบบุญต้นแคมากขึ้น ด้วงเต่า มวนตัวห้ำหนอน ใช้แล้วครับ ตัวห้ำที่ทำลายหนอนผีเสื้อ เรามาถูกทางแล้วครับท่าน

สิ่งที่เล่าให้ฟังนี้ เป็นตัวอย่างเล็กๆน้อยๆที่พบได้บ่อยๆในไร่ ทำให้มองย้อนกลับไป จะสามารถตอบคำถามได้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับใบของต้นมะม่วงในพื้นที่ ที่มีสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน สำหรับชาวสวนที่ปลูกมะม่วงอย่างมืออาชีพ ที่ปลูกเพื่อการค้าคงจะไม่ตกใจแต่อย่างไร แต่สำหรับเกษตรกรที่ปลูกมะม่วงเพื่อบริโภคในครัวเรือน ปลูกจำนวนเพียงต้นสองต้น เจอเหตุการณ์เหล่านี้ ก็อาจจะแก้ปัญหาตามอาการและลักษณะที่เกิดขึ้นก็แล้วกัน ไม่แนะนำให้ใช้สารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้อง

แมลงศัตรูพืชที่พบได้ในมะม่วง มีจำนวนไม่น้อยกว่า 100 ชนิด และแต่ละชนิดจะเข้าทำลายในส่วนต่างๆของมะม่วงแตกต่างกันไป ตั้งแต่ ตาใบ ตาดอก ใบดอก ผล กิ่ง ก้าน ลำต้น เปลือก แต่ในส่วนบทความนี้จะขอกล่าวถึง วิธีการแก้ปัญหาวัวหายแล้วล้อมคอก นั้นก็คือการกำจัดไข่และตัวอ่อน ของ ด้วงงวงชอนใบมะม่วง หรือด้วงงวงกรีดใบมะม่วง ที่เข้ามาทำลายใบอ่อนของมะม่วง เท่านั้น ส่วนแมลงศัตรูพืชชนิดอื่นๆ ท่านสามารถหาข้อมูลเอกสารวิชาการ เรื่องแมลงศัตรูสำคัญของมะม่วงและการป้องกันกำจัด ของกรมวิชาการเกษตรได้เพิ่มเติม

ด้วงงวงกัดใบมะม่วง หรือชื่ออื่นๆที่เรียก ก็คือ ด้วงงวงชอนใบมะม่วง หรือด้วงงวงกรีดใบมะม่วง แมลงชนิดนี้ ตัวเต็มวัยจะกัดเฉพาะใบอ่อน ตัวเมียจะวางไข่บนใบอ่อนของมะม่วง บริเวณใกล้ๆกับเส้นกลางใบ เมื่อวางไข่เสร็จก็จะกัดใบ ห่างจากขั้วใบประมาณ 1-2 ซ.ม. เหลือแต่โคนใบ ทำให้ใบอ่อนในส่วนที่มีไข่ติดอยู่ ร่วงลงบนพื้นดิน ซึ่งในระยะนี้ใช้เวลาเพียง 2-3 วัน แล้วใบอ่อนของมะม่วงบนต้นจะเหลือแต่โคนใบ ทิ้งหลักฐานชิ้นสำคัญไว้ให้ นั้นก็คือ ใบอ่อนที่มีไข่ติดอยู่

ใบอ่อนที่ร่วงกองบนพื้นดินนี้แหละ คือหลักฐานที่เราจะต้องจัดการทำลายให้หมด โดยวิธีง่ายๆคือขั้นตอนที่ 1 การกวาดและเก็บรวบรวมใบอ่อนที่ล่วงอยู่ใต้ต้นมะม่วง นำไปเผา ขอย้ำ…การเผาเป็นวิธีการทำลายดีที่สุด ขั้นตอนที่สอง คือฉีดพ่นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ไล่หรือกำจัด เช่น น้ำหมักสะเดา เป็นต้น ฉีดให้ให้ชุ่มและทั่วบริเวณใต้ต้นมะม่วง และขั้นตอนสุดท้ายคือการเฝ้าระวัง เมื่อต้นมะม่วงเริ่มจะแตกยอด ให้ฉีดพ่นสมุนไพรพร้อมกับสารจับใบ ไปก่อนเลย แล้วค่อยสังเกตดูว่ามีแมลงมาจับที่ใบหรือยัง คราวนี้แหละที่เราจะได้โอกาสล้างตา จัดการตัวพ่อตัวแม่ของด้วงให้อยู่หมัด ต้องลองวิชา คอยดู…

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น